นางสาวสุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าประเด็นข้อกังขาของการบริหารงานของ ผอ.อภ.คนปัจจุบันและบอร์ดชุดนี้มีมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา อภ.ไม่สามารถดำเนินการตามพันธกิจขององค์การเภสัชกรรมได้ ข้ออ้างที่ว่าโรงงานมีปัญหาคุณภาพต้องปรับปรุงจนทำให้ยาสำคัญหลายตัวขาดแคลนไปทั่วประเทศเป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น พันธกิจขององค์การเภสัชกรรมคือต้องผลิตและจัดหายาที่มีคุณภาพให้ประชาชน แต่กลับปล่อยให้ยาสำคัญหลายชนิดขาดสต็อก ทั้งยาเบาหวาน ความดัน ยาจิตเวช เอชไอวีและอื่นๆ แล้วผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้ยาทุกวันจะทำอย่างไร
โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าแม้บอร์ดองค์การเภสัช 10 คนลาออก แต่ก็ไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในการบริหารงานได้ คสช.ควรดำเนินการเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใส โดยการ (1) ตั้งกรรมการสอบประเด็นต่างๆที่มีการร้องเรียน (2) ให้ นพ.สุวัช ผู้อำนวยการ อภ.พิจารณาตัวเอง เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงหลายประเด็น จะไม่แสดงความรับผิดชอบได้อย่างไร (3) นพ.ณรงค์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นกรรมการ รับรู้ปัญหามาโดยตลอด โดยไม่ดำเนินการอย่างใด และ (4) คืนความเป็นธรรมให้ นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ.ที่ถูกให้ออกและเจ้าหน้าที่ที่ถูกใส่ความอย่างไม่เป็นธรรม
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าย้ำว่า เป็นหน้าที่อภ.ต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้ยาขาดแคลน จี้ให้บอร์ดตอบคำถาม ทำไมปล่อยรพ.แก้ปัญหายาเบาหวานและความดันขาดแคลนเองแถมไม่ยอมแจ้งล่วงหน้า ยาจิตเวชต้องรอนานแค่ไหน ถึงจะมีใช้พอ เหตุใดหยุดผลิตยาเม็ดหญิงตั้งครรภ์ ส่อเจตนาให้ไปซื้อจากบริษัทเอกชนอื่นหรือไม่ ขาดส่งยาต้านไวรัสเอดส์ให้สปสช. 3 เดือน กระทบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศจะทำอย่างไร โรงงานผลิตวัคซีนที่รังสิตล่าช้ากว่าปี ทำไมไม่ขึ้นบัญชีทิ้งงาน แถมยังจะจ้างกลับเข้ามาใหม่อีก
ทางด้าน ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชชนบทกล่าวว่า ปัญหาการตัดจ่ายยาของ อภ.รุนแรงอย่างมากตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จากการสำรวจ โรงพยาบาลชุมชน 7 แห่ง 3 จังหวัด มีแจ้งยกเลิกจำหน่ายยาหลายใบสั่งซื้อ 80 กว่ารายการ หากสำรวจทั่วประเทศมั่นใจว่าจะพบปัญหามากกว่านี้
“ขอยกตัวอย่าง ยาไตเฟอดีน ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนและวิตามิน ก่อนหน้านี้ อภ.ขายให้ เม็ดละ 83 สตางค์ แต่แจ้งขาดสต๊อก 1 เดือนมาหลายครั้งจนแจ้งยกเลิกการผลิตในที่สุด ทั้งที่ในตลาดมีผู้ผลิตอีกรายเดียว ในราคาที่แพงกว่ามากคือ เม็ดละ 1.78 บาท ทำให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียงบประมาณมากขึ้นในการดูแลประชาชน ทั้งที่นี่เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเอง ปลัด สธ.อยู่ในบอร์ด เหตุใดจึงไม่เร่งรัดแก้ปัญหานี้ แต่ปล่อยให้ อภ.แจ้งยกเลิกการขายและการผลิต
ตัวแทนชมรมเภสัชชนบท ฝากถึงคสช.และซุปเปอร์บอร์ดต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมมีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่งด้านยาและสุขภาพของประเทศ และต้องประกาศว่าต่อแต่นี้จะสนับสนุนให้ องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร ตัวชี้วัดจะไม่ใช่กำไรแต่ต้องเป็นการทำหน้าที่อันเป็นพันธกิจเพื่อสังคม เป็นกำลังสำคัญสร้างความมั่นคงในระบบยาของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนายาใหม่ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือลงวันที่ 4 ก.ค. 2557 ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. สั่ง สสจ.และ ผอ.รพ.ทุกแห่งงดทำข้อตกลงและทบทวนการเข้าร่วมกิจกรรมทุกประเภทกับ สปสช. ในพื้นที่ จนกว่าจะมีข้อตกลงการบริหารงบประมาณที่ชัดเจนระหว่าง สธ. กับ สปสช. ส่วนกลางนั้น
โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ระบุว่า เป็นการกระทำที่เลวร้ายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุข ด้านสุขภาพของประชาชน แต่กลับมีพฤติการณ์ที่จงใจฆ่าประชาชนเสียเองถือเป็นการจับคนทั้งประเทศเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองอำนาจในการจัดการงบประมาณ
“ในระดับพื้นที่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ รพ.ต่างๆ สับสนกับหนังสือสั่งการให้หยุดร่วมกิจกรรม หยุดส่งข้อมูลบริการให้ สปสช. ทำให้ รพ. ขาดงบประมาณที่จะได้รับหรืองบประมาณส่งถึง รพ.ล่าช้า และอีกไม่ช้าจะกระทบต่อการให้บริการผู้ป่วย หรืออย่างประเด็นที่กระทบแล้วขณะนี้ได้แก่ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการและกำลังรอการพิจารณาของอนุกรรมการมาตรา 41 ซึ่งมี นพ.สสจ.เป็นเลขานุการ บางแห่งต้องหยุดชะงักไปด้วย ภาคประชาชนเรียกร้องให้ คสช.ต้องแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องรับผิดชอบโดยตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน” สุภัทราทิ้งท้าย