ครู DELIVERY ไอเดียดี ๆ สำหรับการปฏิรูปครู

พุธ ๑๖ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๓๖
ในฐานะนักเรียนครูอย่าง “เอก” เอกพงษ์ สมหา นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณมองว่า การเป็นครูที่ดี ไม่จำเป็นต้องสอนดีเพียงอย่างเดียว “ครูดี” ต้องสามารถให้ได้ทั้งความรู้ ความรัก ความเอาใจใส่ กระทั่งสามารถละทิ้งความสะดวกสบายของตัวเอง

ซึ่งกว่า “นักศึกษาครู” คนนี้จะเดินทางมาถึงจุดที่ “เข้าใจแก่น” ของความเป็นครูได้นั้น เขาก็ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ต่างจากนิสิตทั่วไปที่ตื่นเช้าไปเรียนหนังสือ สอบ เรียนจบ และไปทำงาน

แต่สิ่งที่ เอกพงษ์ ต่างจากนิสิตคนอื่น ๆ คือ เขาไม่ปล่อยให้โอกาสที่เดินทางมาหาถึงที่ต้องหลุดมือไป

เพราะเอกพงษ์ มองเห็นข้อดีของเนื้อหาทีเขียนอยู่ในกระดาษเพียงหนึ่งแผ่นที่สงขลาฟอรั่ม ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ส่งไปเชิญชวนมหาวิทยาลัยทักษิณส่งเยาวชนร่วมทำโครงการ “พลังเยาวชนสงขลา” เมื่อปีที่แล้วนั้น....สิ่งที่เอกเห็นคือ การเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว นักศึกษาต้องรวมกลุ่มกันไม่น้อยกว่า 5 คน และต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา โครงการที่เสนอต้องมีฐานมาจากปัญหาของชุมชน และที่สำคัญสงขลาฟอรั่มมีพี่เลี้ยงค่อยติดตามหนุนเสริมกระบวนการทำงานตลอดทั้งโครงการ และมีงบประมาณจำนวนหนึ่งไว้สำหรับการทำโครงการ

เอกมองว่า โอกาสแบบนี้ไมได้มีบ่อยนัก เขาจึงชักชวนเพื่อน ๆ ประกอบด้วย “แคร์” ศุภรดา เพ็งรัตน์ “แบ็งค์” วสันต์ ระมะโน “เมมี่” สรารัตน์ โพชสาลี “สาว” อรวรรณ นิ่มดวง “พีท” เบญจพล สงมาก และ “มะปราง” นวพร บริสุทธิ์ ทั้งหมดเป็นนักศึกษาวิชาเอกสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

และโครงการที่เข้าและเพื่อน ๆ ร่วมกันเสนอเป็นโครงการที่ต้องการเอาความรู้ “วิชาครู” ออกไปรับใช้ชุมชนที่พวกเขาสังกัด โดยเฉพาะในโรงเรียนที่กำลังจะถูกยุบอย่าง “ โรงเรียนพังเภา”

“ก่อนหน้าทีจะทำโครงการนี้ ผมเคยคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนพังเภาในช่วงที่ไปทำกิจกรรมอาเซียนของทางมหาวิทยาลัย...ผู้อำนวยการท่านบอกว่าที่โรงเรียนมีครูน้อย คือมีกันอยู่ 2 คน และถ้าวันไหน ผอ.ต้องมีภารกิจติดประชุมในเมืองหรือต้องเข้ากรุงเทพ ก็จะเหลือครูเพียงคนเดียว...ทางออกของ ผอ.คือให้เด็ก ๆ เรียนกับจอตู้..หรือไม่ก็เรียนกับครูอีก 1 คน”

และผลของการเรียนกับจอตู้ เด็กหลายคนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้...ผู้ปกครองเลยทยอยกันพาลูกหลานไปเรียนทีอื่น เด็ก ๆ ก็ลดจำนวนลง...ผนวกกับกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย...ต้องยุบไปรวมกับโรงเรียนใกล้ ๆ กัน ...

“พอต้องเขียนโครงการ...ผมเลยนึกถึงที่นี่ เพราะเราเรียนครู น่าจะเอาความรู้ความสามารถไปช่วยสอนหนังสือให้น้อง ๆ ที่โรงเรียนพังเภาได้

กำเนิด “ครูเดลิเวอรี่”

“ครูเดลิเวอรี่” คือหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่ประกอบด้วยนักศึกษาจากคณะสังคมศึกษา 5 คน และนักศึกษารุ่นน้อง ๆ ที่มีจิตอาสาอยากช่วยเหลือสังคมอีก 10 คน รวมเป็น 15 คน ทั้งหมด จะเดินทางไปไปยังโรงเรียนพังเภาที่ตั้งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยราว 50 กิโลเมตรโดยรถตู้ของทางมหาวิทยาลัย

ซึ่งก่อนหน้าที่จะเดินทางไปยังโรงเรียนพังเภา “ว่าที่ครู” ทั้งหมดจะมาร่วมกันกำหนดแผนการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็นทีมเพื่อรับผิดชอบในแต่ละรายวิชา

“เราดูจากวิชาที่เด็กเรียนอ่อน เช่นคณิตศาสตร์ และภาษาไทย...ก่อนไปสอนก็มาวางแผนร่วมกัน โดยแบ่งเป็นทีม เพราะยังใหม่สอนคนเดียวอาจจะไม่ไหว...และแต่ละทีมก็จะสอนไปตามหลักสูตร พอหมดชั่วโมงก็จะเปลี่ยนห้องสอน...หมุนไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 3 วิชา” เอก กล่าว

และหลังสอนจบ ว่าที่ครูทุกคนก็จะมาประชุมร่วมกันเพื่อถอดบทเรียนหาจุดบกพร่อง และจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ถ้าหากผู้อำนวยการอยู่ก็เชิญเข้าร่วมฟังด้วยและช่วยชี้แนะในบางประเด็น

เอกยังบอกอีกว่า การรวมตัวช่วงเที่ยงทุกวันพุธของ 15 ชีวิต โดยเฉพาะในวันแรกของการสอนจริงนิสิตครูทุกคนรู้สึกตื่นเต้น แม้ว่าจะมีการเตรียมตัวและข้อมูลที่เพียบพร้อม การเดินทางด้วยรถตู้ประมาณ 1 ชั่วโมงจากมหาวิทยาลัยทักษิณถึงโรงเรียนบ้านพังเภาทุกคนร่วมพูดคุยปรึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลขณะเดินทาง เป็นการช่วยลดความกังวลได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ครูอาสาทุกคนเจอครั้งแรกในการสอนคือ พฤติกรรมเด็ก ที่เกิดจากการคุ้นชินกับการเรียนแบบเดิม ๆ กับครูตู้ ทำให้ตัวเด็กปฏิเสธการสอน ไม่ยอมรับการที่กลุ่มเข้าไปทำกิจกรรม “พีท” เบญจพล สงมาก หนึ่งในทีมครูเดลิเวอรี่บอกว่า คาดหวังกับการสอนไว้ค่อนข้างสูง เห็นทีท่าว่าหากปล่อยไปจะทำให้ไม่สามารถเริ่มต้นกิจกรรมการเรียนการสอนได้

“คิดเยอะครับ ทุกทฤษฎีที่เรียนทยอยขุดมาใช้แต่ก็ไม่ได้ผล ทั้ง วิชาเทคนิคการควบคุมชั้นเรียน หรือ วิชาจิตวิทยา ขั้นพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ยังไม่สามารถดึงเด็กให้มาสนใจได้...แต่ในครั้งต่อ ๆ มาเราก็ต้องปรับวิธีสอน เพราะเอาเข้าจริง เราไม่อาจสอนหนังสือได้อย่างเดียว เราต้องเข้าใจเด็ก ๆ ว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะอะไร หลายครั้งต้องพูดหน้าห้องเพื่อสร้างกำลังใจ ให้เด็ก ๆ เห็นว่าศึกษานั้นดีต่อตัวเองอย่างไร” พีทกล่าวก่อนเสริมว่า หลังจากการเรียนการสอน ครูจะมีสมุดบันทึกการสอนประจำตัว และทุกครั้งที่สอนต้องมีการจดบันทึกอย่างละเอียดทันทีเมื่อเสร็จจากการสอน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ในกลุ่มตกลงร่วมกัน เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงว่านักเรียนเป็นอย่างไร และเพื่อนำข้อมูลที่ได้บันทึกได้มาร่วมแชร์สิ่งที่เกิดขึ้นในการร่วมการแก้ไข

ครูสอนเด็ก...เด็กสอนครู เรียนรู้ปัญหาซึ่งกัน

จากกระดาษหนึ่งแผ่นของสงขลาฟอรั่ม กลายเป็นกระดาษหนึ่งแผ่นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเรียนการสอนของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

เพราะไม่นานหลังจากนั้น รูปแบบการสอนจากที่เคยมีเฉพาะในห้องเรียน ถูกขยับออกไปนอกห้อง เพราะนิสิตสามารถใช้ความรู้ “ในห้อง” มาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ “นอกห้อง” ได้ด้วยตัวเอง โดยมี “โรงเรียนพังเภา” ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเสมือน SOCAIL LAB หรือ “ห้องปฎิบัติการทางสังคม” ที่นิสิตจากคณะสังคมศึกษา ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้

ปิยะวุฒิ เดชนาวา หรือ “นกหวีด” ครูอาสารุ่นสอง เล่าว่า ตอนเดินเข้าไปขอเข้าร่วมโครงการดูเหมือนพี่ ๆ จะไม่มั่นใจในความสามารถ แต่เพื่อเป็นการทดสอบ พี่ ๆ ยื่นโจทย์วิชาคณิตศาสตร์มาให้ทดลองทำ

“ผมทำได้คะแนนเต็ม พี่ ๆ เลยให้เข้าร่วมทีม และได้สอนชั้น ป.6 “ นกหวีดกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

แต่เมื่อก้าวเข้าไปสอนจริง ๆ นกหวัดกลับต้องสอน “วิชาชีวิต” ก่อนเริ่มชั้นเรียนคณิตศาสตร์

“เพราะสังคมชนบท เด็กส่วนมากเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มักไม่เรียนต่อในระดับมัธยม เหตุผล เพราะขาดการกระตุ้นความคิดในเรื่องการเรียนต่อว่ามีผลดี...และการที่ตัวผมเองได้เข้าไปสอนเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นั้น นอกเหนือจากการสอนเรื่องของวิชาการสิ่งสำคัญที่รองลงมาที่ตั้งใจไว้ คือ การสอนวิชาชีวิตคือการเสริมทักษะการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าตอนที่เป็นเด็กเราเรียนหนังสือไม่มีสิ่งที่คอยสอนหรือชี้นำเรา อีกอย่างหนึ่ง ป.6 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการตัดสินใจในเรื่องของการเรียนต่อ แล้วยิ่งเป็นชุมชนที่ค่อนข้างชนบทแล้วการที่นักเรียนจะไม่ศึกษาต่อมีโอกาสสูง”

ทุกวันนี้ Model ครูเดลิเวอรี่ ถูกบรรจุไว้ในแผนการเรียนการสอนของคณะสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีโรงเรียนพังเภาเป็น “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” ของครูรุ่นต่อ ๆ มา

และแม้ผลของการทำโครงการจะสามารถแก้ไขปัญหาโรงเรียนถูกยุบลงไปได้ แตประเด็นสำคัญคือโครงการนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่า “หัวใจของความเป็นครู” ผู้ที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา จัดรูปแบบการเรียน เสริมทักษะชีวิต เปลี่ยนทัศนะคติการศึกษาที่ดีขึ้นให้เกิดกับตัวผู้เรียนได้อย่างแท้จริง....

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก