ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาจากภาคอีสานได้เข้ามาเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้มีโอกาสเข้าสู่สถาบันการศึกษาเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เยาวชนในสถาบันการศึกษาของตนเอง ตามความเหมาะสมและตามความต้องการของเยาวชนในสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ในระหว่างการเข้าค่ายจะมีการจัดกิจกรรมภาคทฤษฎี ด้วยการบรรยายพิเศษโดยผู้บริหารจากสำนักงาน กปร. และการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในภาคปฏิบัติจะมีกิจกรรมการเรียนรู้พร้อมลงมือปฏิบัติตามแนวพระราชดำริและผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการเรียนรู้จากเกษตรกรตัวอย่างที่ได้รับการถ่ายทอดและลงมือปฏิบัติในการทำการเกษตรและการใช้ชีวิตร่วมกับเกษตรกรตัวอย่าง นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรม “เยาวชนอาสา สร้างสิ่งสืบสาน” อันเป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ให้เยาวชนได้ร่วมกันสร้างประโยชน์แก่สังคม ด้วยการต่อยอดการพัฒนาจากกิจกรรมของค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริในปี 2556 ที่ผ่านมา
นายอาทิตย์ ดาลาพล นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร หนึ่งในนักศึกษาชายที่เข้าร่วมค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริในครั้งนี้เปิดเผยว่า เมื่อก่อนมีโอกาสเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายครั้งด้วยกัน โดยทางมหาวิทยาลัยนำมา แต่แตกต่างจากการเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ เพราะครั้งนี้นอกจากจะได้ดูงานแล้วยังได้มีโอกาสเรียนรู้จริง ได้ลงมือปฎิบัติจึงทำให้ได้รับรู้อย่างกว้างขวางและละเอียด จนเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะเรื่องของการเพาะปลูกในพืชชนิดต่างๆ ตลอดถึงการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกพืชผักสวนครัวที่สามารถมีผักให้กินและขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะนำความรู้เหล่านี้ไปทำเองที่บ้านต่อไป เพราะที่บ้านก็มีอาชีพการเกษตร
ส่วนนางสาวไอลดา จันทวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัลราชภัฎมหาสารคาม เปิดเผยว่า การเข้าค่ายในครั้งนี้ มีความสนใจในเรื่องของการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะที่บ้านก็ทำนาอยู่แล้ว แต่ยังทำแบบเดิมๆ อยู่ คือทำนาอย่างเดียว พอราคาข้าวไม่ดีขายไม่ได้ราคาก็ลำบาก แต่ถ้าทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ก็จะมีพืชผักและข้าวให้ได้กินได้ขายตลอดทั้งปี หากพืชตัวใดราคาไม่ดี ก็มีตัวอื่นๆ เข้ามาเสริม ที่สำคัญคือจะมีกินตลอดทั้งปี
“ กลับไปบ้านก็จะคุยกับพ่อและแม่ให้จัดแบ่งพื้นที่ทำเป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ และทำนาปลูกข้าว เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักทุกชนิดที่จะกินในครอบครัวเหลือแล้วจึงเอาไปขาย” นางสาวไอลดา จันทวงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ในระหว่างการเข้าค่ายจะมีกิจกรรมเพื่อการสานต่องานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวคิดของเยาวชนให้เยาวชนได้ร่วมกันจัดทำอีกด้วย โดยให้เยาวชนที่ร่วมเข้าค่ายได้นำเสนอโครงการ และแผนงานเพื่อการขยายผลงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปยังสถาบันการศึกษาของตนเอง เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผล อีกทั้งเพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างกว้างขวางต่อไป โดยโครงการและแผนงานใดที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ จะได้รับรางวัลเป็นทุนดำเนินโครงการ โครงการละ 20,000 บาท ซึ่งจะมีค่ายละ 1 ทุน
พร้อมกันนี้ยังมีการคัดเลือกทีมเยาวชนจากกิจกรรมประเมินผลการเรียนรู้ จากการประเมินผลการมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นในหัวข้อ “สิ่งที่ฉันเห็นจากงานของในหลวง” จำนวนอีก 4 รางวัลต่อค่าย โดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับเกียรติบัตรของสำนักงาน กปร. พร้อมทุนการศึกษา 2,000 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศ รับเกียรติบัตรของสำนักงาน กปร. พร้อมทุนการศึกษารางวัลละ 1,000 บาท อีกจำนวน 3 รางวัล
สำหรับการจัดค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริของสำนักงาน กปร. ครั้งต่อไปจะร่วมกับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 นี้ โดยนำเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเข้าร่วมกิจกรรม
เยาวชนจากสถาบันการศึกษาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ติดตามรายละเอียดและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานกปร.โทร 0 2447 8500 ต่อ117 หรือเว็บไซต์ www.rdpb.go.th, www.facebook.com/rdpbcamp
ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น.