Movie: แผลเก่า

อังคาร ๒๒ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๒๖
ฉันขอสาบาน

ว่าฉันจะไม่มีวันทอดทิ้งพี่ขวัญ

ทิ้งคลองแสนแสบ ทิ้งทุ่งบางกะปิ…

กำหนดฉาย 12 สิงหาคม 2557

แนวภาพยนตร์ Romantic-Drama

บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ

ดำเนินงานสร้าง นัยนา อึ้งสวัสดิ์, โชคอนันต์ สกุลธรรม

กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

บทภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

กำกับภาพ พนม พรมชาติ

ออกแบบงานสร้าง พัฒน์ฑริก มีสายญาติ

ลำดับภาพ สิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์

เทคนิคภาพพิเศษ เซอร์เรียล สตูดิโอ

ดนตรีประกอบ ปิติ เกยูรพันธ์

ออกแบบเครื่องแต่งกาย อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์

แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด

ฟิล์มแล็บ Kantana Post Production

บันทึกเสียง Kantana Sound Studio

ทีมนักแสดง ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ดาวิกา โฮร์เน่, สินจัย เปล่งพานิช, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, ณัฎฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พงศ์สิรี บรรลือวงศ์, รัดเกล้า อามระดิษ, ปานเลขา ว่านม่วง, วราวุธ โพธิ์ยิ้ม, จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม, อติรุจ กิตติพัฒนะ, กรกฎ ตุ่นแก้ว, กรวิชญ์ สูงกิจบูลย์, ธัญญรัศม์ ไตรสุทธิวงษ์, โสรญา ฐิตะวชิระ, จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร, นัทธพงศ์ พรมสิงห์, ศุภากร ประทีปถิ่นทอง

และขอแนะนำ บดินทร์ บางเสน

เรื่องย่อ

ในปี พ.ศ.2479 ณ ท้องทุ่งบางกะปิ เรื่องราวความรักอมตะของ “ขวัญ” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) และ “เรียม” (ดาวิกา โฮร์เน่) ได้ก่อกำเนิดขึ้น แต่มันกลับต้องเป็นรักต้องห้ามอันเนื่องมาจากครอบครัวของทั้งสองฝ่ายคือ “ผู้ใหญ่เขียน” (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) พ่อของขวัญและ “กำนันเรือง” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) พ่อของเรียมที่มีเรื่องบาดหมางไม่ถูกกันมาแต่ครั้งอดีต ทั้งคู่จึงตั้งตนเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และสั่งห้ามคนในครอบครัวเข้าไปข้องแวะกับแต่ละฝ่ายอย่างเด็ดขาด

แม้จะมีข้อห้ามของครอบครัวเป็นอุปสรรคใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความรักของทั้งคู่ลดน้อยลง ขวัญและเรียมยังคงแอบนัดพบกันเสมอ จนได้สาบานรักต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทรว่าจะซื่อสัตย์และเป็นรักเดียวของกันและกันตลอดไป นี่ยิ่งทำให้ความรักของทั้งคู่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

จนกระทั่งการมาปรากฏตัวของ “จ้อย” (พงศ์สิรี บรรลือวงศ์) นักเลงเมืองมีนผู้หมายปองเรียมเป็นภรรยา โดยมี “เริญ” (วราวุธ โพธิ์ยิ้ม) พี่ชายผู้ไม่เอาไหนของเรียมเป็นผู้ช่วย ทั้งคู่จึงเป็นศัตรูคู่ปรับตัวฉกาจของขวัญในทุกๆ ทาง และนำมาซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้เรียมต้องถูกขายขัดดอกให้กับ “คุณหญิงทองคำเปลว” (สินจัย เปล่งพานิช) เศรษฐีนีม่ายบางกอกผู้มั่งคั่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่นาแห่งทุ่งบางกะปิ

เมื่อเรื่องรู้ถึงหูขวัญ เขาแทบคลั่งและไม่รอช้ารีบออกตามหา และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เรียมกลับคืนมา แต่ก็ไร้ผล ทำให้ขวัญเสียใจมากจนเกือบเสียผู้เสียคน

อาจจะเป็นความโชคดีบนโชคร้ายของเรียมที่ถูกขายให้กับคุณหญิงฯ ก็เป็นได้ เพราะคุณหญิงฯ รักและเอ็นดูเรียมอย่างลูกสาวแท้ๆ ของตัวเอง คุณหญิงฯ ได้ให้ชีวิตใหม่กับเรียมทั้งรูปโฉม การศึกษา และฐานะทางสังคม รวมถึงทำให้เรียมได้รู้จักกับนักการเมืองหนุ่มไฟแรง “คุณสมชาย” (ณัฎฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้เข้ามาพัวพันและเป็นตัวแปรสำคัญต่อความรักของขวัญและเรียม

ยิ่งเวลาผ่านไป ชีวิตของขวัญและเรียมก็ยิ่งถูกแยกห่างออกไปเหมือนอยู่กันคนละโลก แต่แล้วโชคชะตาก็นำพาให้ทั้งคู่มีโอกาสได้กลับมาพบกันอีกครั้งด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ และความเข้าใจผิดอันนำไปสู่ความสูญเสียและการพลัดพราก ณ ท้องน้ำหน้าศาลเจ้าพ่อไทร สถานที่ที่ทั้งคู่เคยร่วมสาบานว่าจะรักกัน...ตราบจนวันตาย

เบื้องหลังงานสร้าง

ได้รับการกล่าวขวัญถึงในทุกผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ออกมาในยุคปัจจุบันตั้งแต่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553), “อุโมงค์ผาเมือง” (2554), “จันดารา ปฐมบท” (2555) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (2556)

ล่าสุด ผู้กำกับชั้นครู “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” กำลังจะกลับมาสร้างความฮือฮาให้กับวงการภาพยนตร์ไทยในปี 2557 นี้อีกครั้ง กับการหยิบวรรณกรรมสุดอมตะของ “ไม้ เมืองเดิม” (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เรื่อง “แผลเก่า” มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Romantic Drama อย่างร่วมสมัยขึ้น กับเรื่องราวความรักต้องห้ามอันลือลั่นแห่งท้องทุ่งบางกะปิของ “ขวัญ” และ “เรียม” อันเนื่องมาจากความเป็นศัตรูระหว่างทั้งสองครอบครัว โดยมีคลองแสนแสบเป็นเขตขวางกั้นความรักระหว่างสองหนุ่มสาวบ้านนา

“คือโครงการนี้มันเกิดจากการที่คุณเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) กับเราคุยกัน คุณเจียงมีความปรารถนาอยากที่จะเห็น ‘แผลเก่า’ ในเวอร์ชั่นใหม่ คือลำพังตัวคุณเจียงเองก็ชื่นชมและประทับใจภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ของคุณเชิด ทรงศรีมาก แกอยากเห็นแบบหนังร่วมสมัยบ้าง เป็นหนังที่ทำให้คนรุ่นใหม่ดู แต่ว่ารักษาอรรถรส รักษาเนื้อหาสาระของเดิมไว้ทั้งหมด ก็เลยมาปรึกษากัน แล้วก็คิดว่ามันต้องมีการปรับปรุง อาจจะมีการปฏิรูปแผลเก่าจากวรรณกรรมเรื่องเดิมมาเป็นภาพยนตร์ในยุคใหม่ ซึ่งอันนี้ต้องมีการศึกษามาก มีการค้นคว้ามาก แน่นอนที่สุดวรรณกรรมเรื่องนี้เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2479 แล้วก็ถูกทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้งมาก รู้สึกว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 5 ถูกทำเป็นละครเวทีและละครโทรทัศน์มากมาย ตัวเราเองก็ดูหลายครั้ง ทั้งอ่านวรรณกรรมหลายเที่ยวตั้งแต่เด็ก

แล้วก็อันที่ประทับใจที่สุดคือแผลเก่าที่เป็นละครโทรทัศน์โดยช่อง 4 บางขุนพรหม จำได้ว่ากำธร สุวรรณปิยะศิริและนันทวัน เมฆใหญ่เล่นเป็นขวัญกับเรียมแล้วมันเป็นภาพที่ติดตามากๆ สมัยนั้นยังเป็นทีวีขาวดำอยู่เลย ก็ประทับใจจำได้ไม่ลืมเลือน ทีนี้พอยุคที่เราเรียนหนังสืออยู่ เรียนมหา’ลัยก็มีหนังคุณเชิดเมื่อปี 2520 ก็ได้ดูแล้วก็ประทับใจไปอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้ทำ อยากดูที่คนอื่นทำมากกว่า ถ้าถามความรู้สึกของตัวเองนะครับ จะพูดไปก็เป็นความปรารถนาของคุณเจียงที่บอกว่าอยากเห็นแผลเก่าฝีมือหม่อมน้อยทำ”

วรรณกรรมอมตะของ “ไม้ เมืองเดิม” มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สำนวนแปลก เค้าโครงเรื่องเร้าใจ ทำให้วรรณกรรมของท่านแทบทุกเรื่องได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมชิ้นเอกของท่านอย่าง “แผลเก่า” เรื่องนี้ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 5 ครั้ง (พ.ศ.2483, 2489, 2520, 2544 และ 2557) เพราะเนื้อหาที่ทั้งสนุกสนานเร้าใจ และมีสาระอันลึกซึ้งกินใจ ดูกันได้ทุกสมัยอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย

“จริงๆ แล้วตามบทประพันธ์ของ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ก็เป็นวัยรุ่นย้อนยุคอยู่แล้ว ถ้าคนอ่านหนังสือจะทราบว่าขวัญกับเรียมอายุ 18-19 เอง ทีนี้พอมองไปเวอร์ชั่นที่ดังที่สุด เวอร์ชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประทับใจที่สุดจะเป็นของคุณสรพงษ์ ชาตรี กับ คุณนันทนา เงากระจ่าง ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองท่านอายุมากแล้วในตอนนั้น ภาพนั้นจะติดตาคนดู แต่โดยแท้แล้วเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่ยังไม่ได้รับปากคุณเจียงด้วยซ้ำ บอกว่าขอมาอ่านก่อนอีกครั้งหนึ่ง ขอดูแง่มุมที่จะสามารถดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สำหรับยุคใหม่ร่วมสมัย มันจะได้มั้ย ก็มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ก็เก็บรายละเอียดมาก แล้วก็เห็นคุณค่าในวรรณกรรมชิ้นนี้มาก จริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่ายๆ มันไม่ใช่เรื่องยากเลย เป็นความรักของขวัญกับเรียมซึ่งสองครอบครัวพ่อแม่ไม่ถูกกัน เกลียดกัน แล้วก็เป็นรักต้องห้าม โดยมีคลองแสนแสบขวางกั้นอยู่ จะพูดไปก็มีความเป็นโรมิโอ-จูเลียตของเช็กสเปียร์อยู่มาก แต่ว่าในหนังสือความเด่นของท่านคือการใช้ภาษาของท่าน ซึ่งบรรยายทุ่งนาได้สวยงามเหลือเกิน แล้วก็บรรยายชนบทพื้นบ้านไทยในยุคนั้นได้อย่างงดงาม

แล้วก็ตัวละครของท่านคือขวัญกับเรียมเป็นมนุษย์ มันน่าอัศจรรย์ใจมากที่นักเขียนในยุคนั้นมักจะเขียนพระเอกก็คือพระเอก นางเอกก็ดี ผู้ร้ายก็ร้าย แต่ว่าใน ‘แผลเก่า’ ท่านสร้างตัวละครขวัญกับเรียมได้เป็นมนุษย์มาก เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี มีทุกอย่าง มีเลือดมีเนื้อ มีจิตใจ มีวิญญาณ มีความคิดลบ มีความคิดบวก ซึ่งน่าอัศจรรย์ใจมาก”

ภาพยนตร์ชีวิตรักแนว Romantic Drama นั้นเป็นแนวภาพยนตร์ที่ไม่เคยเสื่อมความนิยมในทุกยุคทุกสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเอเชีย เปรียบได้กับชาวโลกไม่เคยลืมเลือนความซาบซึ้งประทับใจในความรักของ “โรมิโอ และ จูเลียต” ของ “วิลเลียม เช็กสเปียร์” ความรักของ “ขวัญ” และ “เรียม” ใน “แผลเก่า” ก็เช่นเดียวกัน เพราะโศกนาฏกรรมในความรักของทั้งสองหนุ่มสาวมีมูลเหตุมาจากความแตกแยก ชิงชัง ขาดความรักใคร่สามัคคีปรองดองในสังคมท้องถิ่น อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในผลประโยชน์และทัศนคติ ตลอดจนความเชื่อในการดำรงชีวิต โดยมี “คลองแสนแสบ” แห่ง “ทุ่งบางกะปิ” เป็นเส้นแบ่งกั้นความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย เปรียบได้กับ “ความขัดแย้ง” ในสังคมไทยปัจจุบันซึ่งก่อให้เกิดแต่ผลร้าย และความหายนะของทุกๆ ฝ่าย หากคนไทยไม่รู้จักที่จะหันหน้าเปิดใจให้แก่กัน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธีแทนที่จะใช้ความรุนแรง

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งในทุ่งบางกะปิเองก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสองบ้านคือบ้านขวัญคือผู้ใหญ่เขียนกับบ้านเรียมคือกำนันเรือง สองบ้านก็จะแตกต่างกัน และแต่ละฝ่ายก็ Extreme นะ แต่ละฝ่ายก็ยึดถือความถูกของเค้า ผู้ใหญ่เขียนถึงแม้เป็นคนสมถะ แต่ก็ไม่ใช่คนปล่อยวาง ก็เป็นคนยึดในความคิดของตัวว่าคิดแบบฉันถูก กำนันเรืองที่อิงวัตถุเงินทองก็บอกคิดแบบฉันก็ถูก เพราะฉะนั้นสองฝ่ายมันก็เป็นศัตรูกันแล้วก็ไม่มีวันจบวันสิ้น ท้ายสุดมันก็ต้องเสียเลือดเสียเนื้อถึงปรองดองกันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพูดแบบนี้”

ความน่าสนใจใน “ความรักต้องห้าม” (Taboo) ของ “ขวัญ” และ “เรียม” อันมีพื้นฐานมาจากสัญชาตญาณของความท้าทายที่จะเอาชนะในกฎเกณฑ์ของสังคมที่ถูกกำหนดโดยผู้ใหญ่หรือคนรุ่นเก่า และการยึดถือความเป็นปัจเจกชนเยี่ยงคนหนุ่มสาวในวัยคะนองจนก่อให้เกิดบทเรียนชีวิตอันน่าสะเทือนใจสอนใจผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างแยบยลและแนบเนียนเป็นที่สุด

“เราจับได้ว่าความรักต้องห้ามของหนุ่มสาวสองคน อายุ 18-19 แล้วเพิ่งจะรักกัน มันน่าจะเป็นหนังวัยรุ่นย้อนยุคได้ ซึ่งการกระทำของทั้งสองคนมันก็เหมือนวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมาก เหมือนวัยรุ่นทุกยุคมาก คืออะไรห้ามมักจะทำ พ่อแม่ห้ามเราจะสนุกเหลือเกินที่จะฝ่าฝืนกฎ มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็น Psychology ธรรมดาของมนุษย์วัยรุ่นที่อะดรีนาลีนกำลังพลุ่งพล่านมาก แล้วก็ยังแยกไม่ออกระหว่างความรักกับความหลง แล้วขวัญเองก็เป็นหนุ่มหล่ออยู่ฝั่งหนึ่ง เรียมเองก็เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้าน ถึงแม้ว่าจะโดนห้ามคบกันตั้งแต่เด็ก มีคลองขวางกั้น แต่มันเห็นกันทุกวัน หมู่บ้านสมัยนั้นมันเล็กนิดเดียว มันก็รู้จักกันหมดนั่นแหละ แต่ว่าไม่พูดกัน โดนห้ามคบกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่เริ่มจะสู่วัยหนุ่มวัยสาวมันจะสนใจกัน แล้วยิ่งห้ามยิ่งยุมันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นอันนี้เราเลยจับได้ว่าด้วยจิตวิทยาง่ายๆ ของวัยรุ่น เราเลยเชื่อว่าประเด็นนี้มันจะเป็นประเด็นที่คนดูวัยรุ่นยุคปัจจุบันตั้งแต่ 14-19 จะดูอย่างเข้าใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่สามารถรู้สึกได้”

“แน่นอนที่สุด สิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาในช่วงเตรียมงานว่าเราทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คนรุ่นใหม่ดู เป็นแผลเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่ อันนี้มันต้องทำความเข้าใจกันก่อน แน่นอนที่สุดการรีเมกหรือทำภาพยนตร์ที่เคยทำมาแล้ว เราไม่ได้ก๊อปปี้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะก๊อปปี้ของเก่า เพราะของเก่าที่ดีของคุณเชิดก็ 30 กว่าปีมาแล้ว มันไม่ใช่ยุคสำหรับคนปัจจุบัน ดูแล้วก็จะเบื่อๆ เพราะฉะนั้นเราพยายามดึงส่วนที่ดีจากหนังสือ ส่วนที่ดีจากภาพยนตร์ของคุณเชิดซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เราอุทิศให้แก่ ‘คุณไม้ เมืองเดิม’ และ ‘คุณเชิด ทรงศรี’ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้มีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แผลเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่จริงๆ เพราะว่าเป็นการมองมุมใหม่ที่เป็นหนังรักโรแมนติก มันจะไม่จริงจังแบบของเดิม แต่จะสะท้อนความรักที่สวยสดงดงาม ทั้งความรักของหนุ่มสาว ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เพื่อนที่มีต่อเพื่อน บ่าวที่มีต่อนาย และที่สำคัญที่สุดคือรักถิ่นกำเนิดของตัวเอง รักรากเหง้าของตัวเองซึ่งสะท้อนออกมาในตัวละครของขวัญและเรียม มันเป็นภาพยนตร์รักจริงๆ ภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความรักจริงๆ ความรักแท้เป็นเช่นไรก็จะเห็นในเรื่องนี้ คุณจะได้เข้าใจความรักหลายๆ แบบ”

ความงามของธรรมชาติอันบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ของท้องทุ่งนาบางกะปิในทุกฤดูกาล กิจกรรมการทำนาในอดีตนับตั้งแต่ขุด, คราด, หว่าน, ไถ และเกี่ยว ตลอดจนทำขวัญ จะทำให้ผู้ชมได้ย้อนไปถึงวิธีการทำนาในอดีตซึ่งสูญสิ้นไปแล้วในปัจจุบัน อันเป็นวิถีชีวิตโดยแท้ของชาวไทย และกิจกรรมบันเทิงอันเกี่ยวข้องกับฤดูกาลทำนา อาทิเช่น เพลงเกี่ยวข้าว, เพลงเรือ ฯลฯ จะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในความงดงามและยิ่งใหญ่ของผืนแผ่นนาข้าว และภาคภูมิใจในขนบประเพณีและความเป็นไทย

“สำหรับเราเอง เราเห็นว่าการทำนาไม่ใช่ใครทำก็ได้ มันเป็นงานศิลปะขั้นสูงมากนะ ให้เราไปเรียนวันสองวันก็ทำไม่ได้ มันเป็นงานศิลปะพื้นบ้านจริงๆ มันอาร์ตเวิร์กจริงๆ ไม่ใช่ใช้ Skill อย่างเดียว ไม่ใช่คนชั้นกรรมาชีพเลย และที่สำคัญคือต้องมีความรู้มาก ต้องรู้ธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ ต้องรู้ธรรมชาติของเมล็ดพืช แล้วก็ Sensitive กับน้ำขึ้นน้ำลง ความชื้นอากาศ ซึ่งโอ้โหจริงๆ แล้วเค้าควรเป็นด็อกเตอร์ทางฟาร์มมิ่งกันนะ เพราะว่าเค้ารู้จริงๆ แล้วยิ่งไปกว่านั้นไม่นับหยาดเหงื่อแรงงานที่ต้องตรากตรำอยู่กลางแดดอีก เพราะฉะนั้นนักแสดงในเรื่องนี้จะได้รู้ซึ้งถึงบุญคุณของชาวนา เพราะว่าตัวเองต้องถ่ายกลางแดดจริงๆ ไม่ใช่มาถ่ายแค่แป๊บๆ ชั่วโมงสองชั่วโมง มันไม่ใช่อย่างนั้นเพราะโลเกชั่นถ่ายทำที่สุพรรณบุรี ซึ่งต้องเข้าไปลึกมากเพื่อหนีเสาไฟฟ้าหรืออะไรที่เป็นสมัยใหม่ แล้วรถยนต์ก็เข้าไปไม่ได้ ต้องเดินเข้าไป นั่งซาเล้งเข้าไป แล้วต้นไม้ก็ไม่มีสักต้นเดียว ห้องแอร์ไม่มี ก็คือได้รู้ว่าทุกอย่างชาวนาเค้าเหนื่อยยากขนาดไหน

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะพูดไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นพิพิธภัณฑ์การทำนาของประเทศนี้เลย คือการทำนาทุกขั้นตอนในอดีต โดยที่รักษาทุกอย่างไว้อย่างเหมือนจริงที่สุดซึ่งมันก็ไม่มีอีกแล้ว และที่สำคัญคือเรารักษาความเป็นไทยเอาไว้ที่สุด คือวิญญาณของคนไทยที่อยู่ในตัวละคร บรรยากาศของความเป็นไทยแท้ๆ ที่อยู่ในท้องน้ำหรือลำน้ำ ทัศนะที่มีต่อกันของพ่อแม่ลูก ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวนาพื้นบ้าน เค้าเป็นยังไง เค้าคิดอะไร เค้าทำอะไรกันบ้าง เค้ามีวิถีชีวิตอย่างไรในยุคนั้นนะครับไม่ใช่ยุคปัจจุบัน นี่คือคุณค่าของหนัง

ถ้าจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดูได้หลายระดับนะ ถ้าคิดตามคุณก็จะได้อะไร ถ้าไม่คิดดูเอาความบันเทิงก็เตรียมผ้าเช็ดหน้าไปเช็ดน้ำตากันด้วยความประทับใจ เป็น ‘แผลเก่า’ สำหรับคนรุ่นใหม่จริงๆ”

หลากหลายตัวละคร

“แผลเก่า” เวอร์ชั่นนี้ หม่อมน้อยได้ใช้เวลาแคสติ้งเลือกสรรสองนักแสดงนำอยู่เป็นเวลานานจนมาลงตัวที่นักแสดงหนุ่มเจ้าบทบาทอย่าง “นิว-ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต” ด้วยรูปร่างหน้าตาโดดเด่นบวกกับการแสดงที่น่าเชื่อถือและเป็นธรรมชาติที่ทำให้เขาเหมาะที่สุดกับบท “ขวัญ” หนุ่มเจ้าทุ่งแห่งคลองแสนแสบผู้มั่นคงในรักเดียวอย่างหาที่เปรียบมิได้

ประกบคู่กับฝ่ายหญิงที่หลายคนจับตามองว่าคราวนี้หม่อมน้อยจะเลือกนักแสดงสาวคนใดมาพลิกบทบาทให้ฮือฮากันอีก ในที่สุดโผก็มาออกที่นักแสดงสาวหน้าคมสุดฮ็อต “ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่” ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกผ่านแววตาได้อย่างลึกซึ้ง และมีบุคลิกที่โดนเด่นทั้งความเป็นหญิงไทยโบราณ และความเป็นหญิงสมัยใหม่ที่เชื่อมั่นในตัวเองอยู่ในตัวคนเดียวกันตรงตามบทประพันธ์ ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกให้รับบท “เรียม” สาวงามบ้านนาผู้ต้องเผชิญชะตากรรมแห่งรักต้องห้ามในเวอร์ชั่นใหม่นี้

(หม่อมน้อย) “คือในแง่ของการเลือกนักแสดงของเราก็เหมือนกันทุกเรื่อง คือเราจะเขียนบทเรียบร้อยแล้ว แน่นอนที่สุดการแคสก็จะแคสจากคนที่เหมาะสมที่สุดจริงๆ ที่แน่ๆ คือทุกคนได้รับการออดิชั่นไม่ว่าจะเป็นตัว ‘เรียม’ ก็เลือกกันหลายคนมาก และคนที่เหมาะสมที่สุดก็คือ ‘ใหม่ ดาวิกา’ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนอื่นๆ ที่มาออดิชั่นไม่มีความสามารถและไม่สวย ไม่จริง ไม่ได้เลือกจากความสวยหรือไม่สวย แต่ว่าโดยคาแร็คเตอร์เรียมเป็นผู้หญิงที่มีเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ในขณะที่ขวัญใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เรียมจะดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าขวัญด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการที่เลือกดาวิกาเพราะว่าแลดูเป็นเด็กตรงๆ มีเหตุมีผล คิดมากกว่าพูด จะไม่แสดงออกอะไรที่ไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นมันตรงกับเรียมในบทประพันธ์เดิมเลยนะ และโดยเฉพาะการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านแววตา ใหม่ก็แสดงได้อย่างลึกซึ้ง

ส่วน ‘ขวัญ’ จะหาช้อยส์ยากในปัจจุบันเพราะว่าหนังสือเขียนว่าโอ้โห...ด้วยรูปลักษณ์ราวกับกระทิงหนุ่ม แล้วเป็นคนซื่อมาก จริงใจในความรู้สึกทุกอย่าง เวลาโกรธก็โกรธจัด เวลาทุกข์ก็ทุกข์จัด เวลาอ่อนก็อ่อนมาก เวลาแข็งก็แข็งมาก แล้วก็เป็นนักเลงสมัยโบราณที่เค้าเป็นสุภาพบุรุษ เค้าต่อสู้เพื่อคนอ่อนแอ เค้าต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เราเห็นว่าคนที่เหมาะที่สุดด้วยรูปลักษณ์คือ ‘นิว ชัยพล’ ด้วยรูปร่าง ด้วยตาซื่อของเค้า รวมถึงฝีมือทางการแสดงด้วย”

(นิว ชัยพล) “เรื่อง ‘แผลเก่า’ นี้เป็นเรื่องที่หนักที่สุดจริงๆ หนักทุกๆ ด้านเลยครับ ตั้งแต่ต้องขี่ควาย ทำนาด้วย แอ็คชั่น ดราม่า เต้นกำรำเคียว หลายๆ อย่างผสมกันมันก็หนักมาก พออ่านบทมา คนดูก็จะคาดหวังในความเป็นดราม่า แต่ว่าพอเราเล่นเราก็พยายามไม่สนใจมันให้ได้มากที่สุด ไม่ได้คิดถึงมันว่ามันจะเป็นยังไง ถามว่าเครียดมั้ย ก็เครียดมากพอสมควร แต่หม่อมก็จะบอกเสมอว่าปล่อยมันไปในเรื่องของผลลัพธ์ที่ออกมาว่าคนดูจะได้ความรู้สึกยังไง ไม่ใช่เรากำหนดว่าเราต้องเล่นให้เศร้าหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็พยายามปล่อยไป แล้วเล่นออกมาตามที่เราเข้าใจ แล้วก็ทำเต็มที่ที่สุดครับ”

(ใหม่ ดาวิกา) “ใหม่ว่ามันเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ทั้งแฟนใหม่เอง แฟนนักแสดงหลายๆ คน แฟนหม่อมเองก็แล้วแต่ ก็จะได้เห็นผลงานที่แตกต่างออกไปในอีกรูปแบบใหม่ หนังเรื่องนี้จะออกมาเป็นอะไรที่ทำให้คนดูขนลุกได้ แล้วก็จะทำให้คุณซึ้ง เป็นการตีความที่มันลึกลงไปอีก จะเป็นมีการตีความที่อาจจะแปลกใหม่ขึ้น มีความเป็นวัยรุ่นมากขึ้น แต่ว่าในเรื่องราวความรักยังเหมือนเดิมนะคะ เรื่องของโลเกชั่น เรื่องของความสวยงามของภาพ มุมกล้องต่างๆ ความสมูธ ความสนุก เสียงเพลงดนตรีมันจะเข้ายุคเข้าสมัยมากขึ้นค่ะ แล้วก็จะมีความสวยงามแน่นอนเรื่องนี้ รับประกันจริงๆ ค่ะเพราะว่าหม่อมเองก็ทุ่มเทแล้วก็ตั้งใจมากๆ นักแสดงทุกคนและทีมงานเองก็ถ่ายกันจนเช้าบ่อยๆ เหมือนกันค่ะ ก็ตั้งใจกันมากๆ ทุกคนเลย ใหม่ก็ขอฝาก ‘แผลเก่า’ เวอร์ชั่นนี้ไว้ด้วยนะคะ”

หลังจากห่างหายจากการร่วมงานกันนานถึง 17 ปี ในปีนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่สุดยอดราชินีแห่งจอเงินตลอดกาล “สินจัย เปล่งพานิช” ได้หวนคืนมาร่วมงานกับ “หม่อมน้อย” อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการแสดงจนได้รับรางวัลสุดยอดนักแสดงตลอดมา (เพลิงพิศวาส, ช่างมันฉันไม่แคร์, มหัศจรรย์แห่งรัก, อันดากับฟ้าใส) อีกครั้งใน “แผลเก่า” เวอร์ชั่นล่าสุดนี้ โดยเธอจะรับบท “คุณหญิงทองคำเปลว” เศรษฐีนีม่ายผู้มั่งคั่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่นาแห่งทุ่งบางกะปิ ผู้จมอยู่ในความเจ็บปวดทรมาน เนื่องจากสูญเสียธิดาสาวคนเดียวมานานนับสิบปี อันเปรียบเสมือนแผลเก่าในใจเธอ ซึ่งตัวละครคุณหญิงฯ นี้จะเป็นผู้ที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิตของ “เรียม” (ดาวิกา โฮร์เน่) สาวงามแห่งทุ่งบางกะปิอย่างสิ้นเชิง

(หม่อมน้อย) “ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ผมอยากจะหาบทดีๆ ให้ ‘นก สินจัย’ แสดง แต่ก็ยังหาไม่ได้สักที จนถึง ‘แผลเก่า’ นี้เองที่ลงตัวที่สุด เพราะบทคุณหญิงฯ นี้เป็นบทที่เล่นยาก ลึกซึ้ง และมีมิติมาก ต้องอาศัยนักแสดงฝีมือขั้นเทพมาถ่ายทอด ซึ่งนกก็เหมาะสมกับบทนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสง่างาม, วัยวุฒิ และที่สำคัญคือฝีมือการแสดงระดับชั้นครูเลยทีเดียว”

(นก สินจัย) “ที่ไปเกี่ยวข้องกันกับเรื่องราวความรักของขวัญกับเรียม คือจริงๆ แล้วคุณหญิงน่าจะเกี่ยวข้องกับเรียมมากกว่า คือเรียมถูกนำมาขายกับคุณหญิงทองคำเปลว เพราะว่ากำนันเรืองเป็นลูกหนี้อยู่ เหมือนเอามาขัดดอก ตอนนี้ด้วยความที่เรียมหน้าเหมือนลูกสาวตัวเองก็เลยหมายมั่นอยากจะให้ลูกสาวตัวเองกลับมามีชีวิต คาดหวังทุกอย่าง กำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่าง สร้างเค้าทุกอย่างโดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจของเค้า ในเวอร์ชั่นนี้หม่อมน้อยก็อยากปูให้เหมือนกับว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรื่องราวความรักของคนทั้งคู่ ทุกคนมีส่วนผิดที่ทำให้เกิดเรื่องราวโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้นมา ซึ่งก็สร้างรอยแผลให้กับตนเองและคนอื่นๆ ด้วย

เรื่องนี้ก็เหมือนกลับมาหาอาจารย์ แล้วมันเหมือนกับว่าเราก็โตขึ้น โตจากพี่น้อยนี่แหละค่ะ เติบโตมากับวงการนี้จนกระทั่งวันหนึ่งได้กลับมาทำงานกับพี่น้อยอีก ความรู้สึกจริงๆ โดยรวมแล้วก็เหมือนเดิมนะคะ คือเหมือนที่เวลาพี่น้อยสอน เวลาที่พี่น้อยบอก ไม่ว่าจะบอกกับดารานักแสดงคนอื่นเรื่องเดียวกัน หรือว่าบอกกับเรา ก็เหมือนเรายังเป็นนักเรียนวันเก่าๆ อยู่ พี่น้อยก็จะบอกอย่างนี้ จะบอกอารมณ์ จะบอกที่มาที่ไป แล้วก็ความตื้นลึกหนาบางของตัวละคร ซึ่งยังเหมือนเดิม ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนได้กลับเข้าไปโรงเรียนใหม่ มาทบทวนกันใหม่ เราทำงานมานานๆ มันก็ชินเหมือนกับอัตโนมัติ แต่การที่กลับมากับพี่น้อยก็ต้องเริ่มต้นใหม่นะ ต้องตีความใหม่ ต้องรู้สึกกับตัวละครนี้จริงๆ ต้องรู้จักมันจริงๆ คนรอบข้างจริงๆ เหมือนได้กลับมาโรงเรียน ได้มาชาร์จแบตอีกครั้ง”

รวมถึงทีมนักแสดงหน้าใหม่จาก The Star ที่ผ่านการออดิชั่นอย่างเข้มข้นจากหม่อมน้อยจนได้รับโอกาสให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของพวกเขาเหล่านี้ด้วย

ตั้ม เดอะสตาร์ 9 - วราวุธ โพธิ์ยิ้ม รับบท “ไอ้เริญ” พี่ชายเจ้าสำราญของเรียม

โดม เดอะสตาร์ 8 - จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม รับบท “เปีย” สหายอารมณ์ดีของขวัญ

แคน เดอะสตาร์ 8 - อติรุจ กิตติพัฒนะ รับบท “สมิง” สหายทรยศของขวัญ

อ้น เดอะสตาร์ 9 - กรกฎ ตุ่นแก้ว รับบท “เยื้อน” สหายอารมณ์เย็นของขวัญ

จูเนียร์ เดอะสตาร์ 7 - กรวิชญ์ สูงกิจบูลย์ รับบท “แฉ่ง” สหายขี้เล่นของขวัญ

กวาง เดอะสตาร์ 7 - ธัญญรัศม์ ไตรสุทธิวงษ์ รับบท “แก้ม” เพื่อนรักอารมณ์เย็นของเรียม

สมาย เดอะสตาร์ 8 - โสรญา ฐิตะวชิระ รับบท “ชมพู่” เพื่อนรักอารมณ์ร้อนของเรียม

ฮัท เดอะสตาร์ 8 - จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร รับบท “ร้อยตรีสง่า” นายทหารหนุ่มแห่งคณะรัฐบาล

ดิว เดอะสตาร์ 9 - นัทธพงศ์ พรมสิงห์ รับบท “ชิด” นักเลงหนุ่มเมืองมีนบุรี

(หม่อมน้อย) “ทีนี้เนื่องจากว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มันเหมือนภาพยนตร์วัยรุ่นย้อนยุค ขวัญก็ต้องมีเพื่อน เรียมก็ต้องมีเพื่อน เพราะฉะนั้นตัวละครเพื่อนมันก็เป็นตัวละครที่สำคัญ ไม่ว่าเป็นแค่เพื่อน แล้วมันก็ต้องสะท้อนมิตรภาพความรักของตัวละคร เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแคสนักแสดงวัยรุ่นว่าวัยนี้แหละ 18-22 ประมาณนี้ แล้วผู้ที่ได้มาจริงๆ ก็บังเอิญเป็น ‘เดอะสตาร์ 9 คน’ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ซึ่งเค้าได้จากแคสติ้ง เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าเอาเดอะสตาร์มาเพื่อเหตุผลทางการค้า เรามองเค้าเป็นนักแสดง เค้ามาออดิชั่นเหมือนนักแสดงทั่วๆ ไป แต่บังเอิญที่เค้าเหมาะกับคาแร็คเตอร์ในเรื่อง แต่ในเรื่องมันก็มีฉากที่กลุ่มขวัญจะต้องไปร้องเพลงเต้นกันรำเคียว เป็นเพลงพื้นบ้านโบราณ ทีนี้พวกนั้นเค้าเป็นนักร้องอยู่แล้วก็เลยโชคดี มันก็เป็นอย่างนั้นมากกว่า”

“ตั้ม วราวุธ” ตัวแทนของแก๊งเดอะสตาร์ พูดถึงการทำงานครั้งนี้ว่า

“ทำงานสนุกครับ ทุกคนต่างใหม่เหมือนกันหมด ก็จะมีคำติบ้างเป็นธรรมดา ก็จะช่วยกัน มีอะไรที่มันไม่ดีก็จะเตือนๆ กัน การทำงานสนุกเพราะเราสนิทกันอยู่แล้ว มันก็เลยทำงานกันง่าย แล้วอีกอย่างเวลาเล่นเราสามารถซ้อมกันได้ก่อน ลองต่อบทลองคุยกันเล่น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี ต่างคนต่างใหม่พอมันมาเจอกันก็แบบเฮ้ย อันนี้ถูกเปล่าวะ อันนี้ยังไง ลองไปถามหม่อมดิ ก็จะแหย่ๆ กัน ก็น่ารักดีครับ

การทำงานกับหม่อมน้อย ผมว่ามันเป็นการแยกแยะที่ถูกต้อง ทำงานคือทำงาน พักคือพัก เล่นคือเล่น แล้วหม่อมเป็นคนที่ละเอียดกับการทำงานมากไม่ว่าจะเป็นการวางของ แสง ตัวละคร ภาพสวยงาม หนังที่ดีจริงๆ ไม่ใช่แค่แอ็คติ้งอย่างเดียว ภาพมันยังต้องบอกอารมณ์ได้ด้วย หม่อมเป็นคนที่มีความเป็นนักศิลปะ มีความเป็นผู้สร้างและเป็นผู้นำที่ดี เป็นคนทำงานเยอะกว่านอน นี่คือสิ่งที่หม่อมแสดงให้เห็นว่าการทำงานมันต้องทุ่มเท แสดงให้เห็นว่านักแสดงต้องฮึดกับเค้าจริงๆ พอเราเห็นเค้าทำงานแล้วเรารู้สึกว่าเฮ้ย...หม่อมสู้ตาย เราสู้ว่ะ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันมีความสุขและมันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักแสดงใหม่อย่างพวกผมที่จะดูหม่อมเป็นตัวอย่าง

ก็คาดหวังแค่ให้คนดูมีความสุขกับสิ่งที่พวกเราต้องการจะถ่ายทอดออกไป ได้สนุก ได้คล้อยตาม ได้คิดตามให้ได้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะสื่ออะไรออกไป แค่นั้นจริงๆ ครับ ก็ขอฝากผลงานการแสดงเรื่อง ‘แผลเก่า’ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของพวกผมเหล่าเดอะสตาร์ ดูแล้วชอบไม่ชอบยังไง ก็ติชมกันได้ครับ”

ร่วมสร้างความเข้มข้นขึ้นด้วยทีมนักแสดงมากฝีมืออย่าง “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” (ผู้ใหญ่เขียน - พ่อของขวัญ), “ศักราช ฤกษ์ธำรงค์” (กำนันเรือง - พ่อของเรียม), “ณัฎฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” (สมชาย - นักการเมืองหนุ่ม ตัวแปรความรักของขวัญ-เรียม), “พงศ์สิรี บรรลือวงศ์” (จ้อย - เจ้าพ่อเมืองมีนผู้หมายปองตัวเรียม), “รัดเกล้า อามระดิษ” (แม่สาย – ต้นห้องของคุณหญิง) “ปานเลขา ว่านม่วง” (แม่รวย – แม่ของเรียม)รวมถึง “เอก-ศุภากร ประทีปถิ่นทอง” (นายแพทย์สงัด) และ “บดินทร์ บางเสน” (รอด – น้องชายจอมซนของเรียม) ที่ผ่านการออดิชั่นมาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรกด้วย

โดยทีมนักแสดงจะได้รับการบ่มเพาะการแสดงสุดเข้มข้น รวมทั้งการเรียนทำนา เรียนขี่ควาย ฝึกฝนศิลปะเพลงพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความรักสุดอมตะแห่งท้องทุ่งบางกะปินี้อย่างสุดฝีมือ ผ่านฉากหลังอันเป็นภาพความงดงามของธรรมชาติแสนบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่, วิถีชีวิตของชาวไทยในอดีต พร้อมบทเพลงอมตะในท่วงทำนองอันไพเราะ ซึ่งจะมาสร้างความประทับใจครั้งใหญ่ในปี 2557 นี้...แน่นอน

(หม่อมน้อย) “มันน่าดูตรงนี้ มันเป็นการเอารุ่นลูกและรุ่นพ่อแม่ที่ใช้นักแสดงที่มีฝีมือมาทำงานด้วยกัน ในแง่ของคาแร็คเตอร์ทุกอย่างมันมีความหมายหมด ไม่ว่าจะเป็นนาหรือข้าวก็เป็นสัญลักษณ์หมด”

(พงษ์พัฒน์) “มันสมัยใหม่จะตาย ภาพยนตร์ที่เล่าย้อนไปก่อนพ.ศ.2500 ผมว่าจริงๆ แล้วน่าจะดูง่ายกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำ มันไม่มีอะไรเลยนะ มันไม่มีอะไรที่ต้องไปหาเหตุและผล แม้กระทั่งผู้หญิงผู้ชายสองคนมองปุ๊บแล้วรักกันปั๊บ มันไม่แปลกหรอกเพราะมันสวยที่สุดกูหล่อที่สุดเนี่ย เมื่อไหร่ก็รักกัน คนสองคนโกรธกันเพราะเรื่องอะไรก็ไม่แปลก เพราะงั้นถามว่ามันดูง่าย ผมว่าง่ายกว่า ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องไลน์หากัน ปีนบ้านเลย ว่ายน้ำเข้าหากัน ดูง่ายจะตาย ใครบอกว่าดูยาก ผมว่าเวอร์ชั่นนี้มันมีเทคโนโลยีของพ.ศ.นี้เข้าไปเป็นส่วนในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ ในยุคที่มันเป็นพ.ศ. 2400กว่าๆ ทั้งวิธีการถ่ายทำ สโคปของภาพ และเทคนิคอะไรต่างๆ มันล้ำกว่าเวอร์ชั่นเก่าๆ แน่นอน เรื่องความน่ารักก็ได้ แง่คิดที่สอดแทรกอยู่ก็มี แต่ต้องไปตีโจทย์กันเองก็แล้วกัน คุณจะคิดเรื่องอะไรล่ะ ความรัก ความเป็นอยู่ หรือการเมืองมีหมดในเรื่องนี้ บอกเลย”

(ณัฏฐ์ เทพฯ) “ผมว่า ‘แผลเก่า’ เวอร์ชั่นนี้มันไม่ได้เน้นเรื่องความรักเรื่องเดียว คือมันเป็นความรักหลายแบบมาก ความรักระหว่างแม่ลูก ความรักระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ความรักระหว่างขวัญกับเรียม ความรักระหว่างผู้ชายที่ไม่ได้รักผู้หญิงคนนั้นจริงๆ หรือว่าผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ได้รักผู้ชายคนนั้นจริงๆ แต่มองว่ามันเป็นอะไรที่เหมาะสม คือมันเป็นความรักเพื่อเป้าหมายของแต่ละคน บางคนมีจุดมุ่งหมายที่เหนือกว่าตัวเอง บางคนมีจุดมุ่งหมายแค่เรื่องความรักเรื่องเดียว บางคนมีจุดมุ่งหมายเรื่องการเมือง ผมว่ามันมีหลายรสชาติ ผมเชื่อว่าคนดูจะได้แง่คิดหลายๆ อย่าง ทั้งในแง่ของการเมือง ความรัก สถาบันต่างๆ ผมเชื่อว่าดูแล้วคงมีอะไรที่ย้อนไปสะกิดใจเราได้ และแน่นอนถ้าเป็นหนังของหม่อมภาพสวยแทบจะทุกเฟรมทุกช็อตเลย แล้วก็ความตั้งใจของนักแสดงที่จะเห็นได้ว่า นักแสดงทุกคนจะใส่เต็มที่ เล่นกันอย่างเป็นธรรมชาติ ทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่แล้วก็ตั้งใจทำงานมากครับ”

ทางด้านเพลงภาพยนตร์ “แผลเก่า” เวอร์ชั่นนี้ ได้นักร้องหญิงและชายคุณภาพของไทยอย่าง “แก้ม-วิชญาณี เปียกลิ่น” (ชนะเลิศ The Star ปี 4) และ “กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ” (ชนะเลิศ The Star ปี 6) มาถ่ายทอดบทเพลงอมตะอย่าง “เคียงเรียม”, “แสนแสบ” (ร้องโดย กัน), “ขวัญของเรียม” (ร้องโดย แก้ม) และ “สั่งเรียม” (ร้องคู่) ได้อย่างไพเราะไม่แพ้ต้นฉบับ ซึ่ง “ครูพรานบูรพ์” แต่งขึ้นประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ในยุคแรกๆ ที่ยังได้รับความนิยม และสร้างความประทับใจอย่างไม่เสื่อมคลายจนถึงปัจจุบัน

(หม่อมน้อย) “เพลงอมตะแบบนี้จะร้องยากมาก ต้องอาศัยนักร้องที่เป็น Vocalist จริงๆ เป็นคนที่มีทักษะในการร้องเพลงจริงๆ แล้ว ‘แผลเก่า’ เวอร์ชั่นนี้เป็นแผลเก่าที่ตั้งใจทำให้คนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเลือกคนรุ่นใหม่มาถ่ายทอดเพลงประกอบ แล้วจะมีใครที่ร้องเพลงเก่าได้ดีเท่ากับกันและแก้ม ทั้งคู่เหมาะมาก เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและเหมาะที่จะมาถ่ายทอดเพลงอมตะของเมืองไทยจริงๆ

คือเพลงในเรื่องเนี่ยอย่างกันเค้าจะถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกของขวัญ ส่วนแก้มก็จะถ่ายทอดความรู้สึกและความคิดของเรียม เพลงไม่ใช่เอาไว้ประกอบภาพยนตร์อย่างเดียวนะครับ เพลงจะมีบทบาทในการอธิบาย และเล่าความรู้สึกของตัวพระเอกและนางเอก เริ่มตั้งแต่ความรักที่รักกันสดชื่นใหม่ๆ แล้วก็กลายเป็นอกหัก แล้วก็เข้าใจกัน เพราะฉะนั้นบทเพลงในครั้งนี้จะเหมือนบทภาพยนตร์เลย มันจะไม่ใช่แค่เพลงประกอบฟังเพราะๆ หรือเป็นแค่เอ็มวี ทั้งกันและแก้มต้องถ่ายทอดวิญญาณของขวัญกับเรียม เพราะฉะนั้นเค้าต้องศึกษาตั้งแต่บท เราก็ให้เค้าไปเวิร์กช็อปร่วมกับนักแสดง แล้วพอถึงเวลาตัดต่อก็ต้องไปดูภาพยนตร์ เพื่อที่จะถ่ายทอดออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งเวลาทั้งคู่ร้องเค้าก็เป็นขวัญกับเรียมจริงๆ เพราะจริงๆ ทั้งคู่ก็เป็นนักแสดงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกกันกับแก้ม ไม่ได้เลือกเพราะเป็นแค่นักร้อง แต่เป็นนักร้อง-นักแสดงที่สามารถสวมวิญญาณขวัญกับเรียมในอารมณ์ของดนตรีได้ ซึ่งเค้าก็ทำออกมาได้สมบูรณ์”

(แก้ม วิชญาณี) “แก้มได้โอกาสที่ดีมากๆ จากหม่อมน้อยให้มาร้องเพลงประกอบ ‘แผลเก่า’ ชื่อเพลง ‘ขวัญของเรียม’ ซึ่งก็จะเป็นอีกเพลงที่เป็นเพลงหลักของเรื่องนี้ เพราะว่ามันบอกความรู้สึกของนางเอกหลังจากที่ไปเจอเรื่องต่างๆ มาแล้วกลับมาหาขวัญ เรียมก็จะนึกถึงความหลังที่ผ่านมาทั้งหมดที่เคยมีความรัก เคยมีความสุขด้วยกัน แล้วก็เลยจะกลับมาหาพี่ขวัญเพื่อจะอยู่กับเค้าตลอดไป

ยากมากค่ะ มันยากตรงที่ว่าคีย์มันสูง แล้วอีกอย่างหนึ่งคือเราต้องถ่ายทอดความเป็นตัวละครออกมา รวมไปถึงลูกเอื้อน คือมันยากที่เราจะต้องทำออกมาให้กลมกล่อม แต่เราก็เต็มที่กับเพลงนี้มากๆ ร้องไปแล้วก็ขนลุกไปด้วย แน่นอนว่าศิลปินที่ได้ร้องเพลงอมตะแบบนี้ต้องภูมิใจมากๆ เพราะว่าอย่างแรกคือมีเพลงต้นฉบับแล้วเราได้มาร้องใหม่อีกครั้งหนึ่ง แสดงว่าคนที่เลือกเรา เค้าเห็นว่าเราเหมาะสมแล้ว ซึ่งเราก็ได้รับเกียรติมากๆ ค่ะ”

(กัน นภัทร) “แต่ละเพลงก็จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันครับ อย่างเช่นเพลงเริ่มเรื่องคือ ‘เคียงเรียม’ ก็จะเป็นเพลงที่เล่าถึงบรรยากาศต่างๆ ของทุ่งบางกะปิ เล่าถึงความสุขต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างขวัญกับเรียม เล่าถึงทุ่งนาและคลองแสนแสบที่สวยงาม แล้วต้องเล่าให้เห็นภาพจริงๆ คือทุกอย่างต้องเล่าผ่านทำนองและคำร้องของเพลงนี้ ส่วนเพลงที่สองเพลง ‘สั่งเรียม’ ก็จะเป็นเพลงที่ยังมีอารมณ์ของความสุขอยู่ คือหลังจากที่เปิดเรื่องทั้งสองก็จะเริ่มรักกัน แล้วก็จะมีความผูกพันต่างๆ เกิดขึ้น ก็เกิดเป็นเพลงนี้ขึ้นมา ส่วนเพลงที่สามเพลง ‘แสนแสบ’ เป็นเพลงที่ต้องใช้อารมณ์มากครับ เพราะว่าเป็นเพลงที่ขวัญรู้สึกเสียใจมากที่เรียมผิดนัดกับเขาแล้วหนีไป ทำให้ขวัญร้องระบายออกมาเป็นเพลงนี้ เป็นการระบายความทุกข์กับคลองแสนแสบครับ

กันรู้สึกดีใจมากๆ ครับที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเพลงเก่าๆ ที่มีคุณค่ามากๆ กับเยาวชนรุ่นใหม่และคนที่เคยฟังมา เพราะว่าเพลงเก่าๆ แบบนี้มีเนื้อเพลงที่มีคุณค่า ฟังกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ ผมก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มาถ่ายทอดเพลงดีๆ แบบนี้ ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘แผลเก่า’ ก็ต้องขอบคุณหม่อมน้อยที่ให้เกียรติผมได้มีโอกาสมาร้องเพลงเรื่องนี้ครับ”

พี่รักเรียมด้วยใจซื่อ

แผลเก่าของพี่เป็นแผลรัก แผลรอ

แต่แผลใหม่นี้ มันเกิดขึ้นเพราะเจ้าชัง...

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ