บิ๊กซีเดินหน้าส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดพื้นที่นำร่อง ๒๗ สาขาให้คนพิการทางการได้ยินเข้าถึงบริการโทรคมนาคมเพื่อการติดต่อสื่อสารผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ
นายเนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่บิ๊กซีมุ่งมั่นที่จะเป็นมากกว่าห้างค้าปลีก โดยหนึ่งในความพยายามของบิ๊กซี คือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของคนพิการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรับคนพิการเข้าทำงานเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้กับทั้งลูกค้าและพนักงานพิการ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ดังกล่าว บิ๊กซีจึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ติดตั้งเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับคนพิการทางการได้ยินที่สาขาของบิ๊กซีรวม ๒๗ แห่ง
“บิ๊กซีชื่นชมความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ได้พัฒนาเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ หรือตู้ TTRS สำหรับคนพิการทางการได้ยินและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้คัดเลือก โดยนับเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยขณะนี้ที่จะมีบริการ บิ๊กซีมีปณิธานสอดคล้องกับโครงการนี้ คือ การส่งเสริมให้คนพิการอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมกันและมีศักดิ์ศรี และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อยืนยันความร่วมมือดังกล่าวกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และสำนักงาน กสทช. ไปเมื่อเร็วๆ นี้ สำหรับสาขาที่กำหนดนั้นเป็นผลการสำรวจว่า
มีคนพิการทางการได้ยินอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จะได้ติดตั้งตู้ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๕๗ นี้จำนวน ๒๗ ตู้ในบิ๊กซี ๒๗ สาขาทั่วประเทศ และจะขยายการติดตั้งไปในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมในปีต่อๆ ไป”
สาขาทั้ง ๒๗ แห่งของบิ๊กซีที่จะมีการติดตั้งตู้ TTRS ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ วงศ์สว่าง บางนา ติวานนท์ อ้อมใหญ่ อยุธยา เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น โคราช นครพนม นครปฐม พิษณุโลก สุพรรณบุรี สุรินทร์ ตรัง สุราษฎร์ธานี พระราม 2 สมุทรปราการ รังสิต สะพานควาย บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าเพชรเกษม บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้ารัชดาภิเษก บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าพระราม 4 บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าหาดใหญ่ บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าบางใหญ่และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าสุขาภิบาล 3
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่า ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือศูนย์ TTRS เป็นหน่วยงานของมูลนิธิที่ให้บริการถ่ายทอดการสื่อสารระหว่างผู้พิการทางการได้ยินกับคนปกติ เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินได้มีโอกาสเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ศูนย์นี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงาน กสทช. ทั้งด้านงบประมาณและการสนับสนุนด้านเครือข่ายเชื่อมต่อการถ่ายทอดข้อมูลของโครงการ TTRS
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ สายงานโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. กล่าวเสริมว่า ภารกิจหนึ่งของ กสทช. คือ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ซึ่งจะต้องมีระบบการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมเฉพาะทางสำหรับคนพิการ เพื่อให้คนพิการไม่น้อยกว่า ๑ แสนคนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นคนปกติทั่วไป โครงการ TTRS นี้ได้เริ่มทดลองให้บริการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๕ โดยช่องทางที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด คือ บริการสนทนาวิดีโอผ่านตู้ TTRS ทั้งนี้ ศูนย์ TTRS ได้ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในการติดตั้งตู้ TTRS เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินได้มีอิสระทางการสื่อสารและสามารถเข้าถึงบริการถ่ายทอดการสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างสะดวกและทั่วถึง
ซึ่งสำนักงาน กสทช. ยังตั้งเป้าว่าในปีนี้จะสามารถติดตั้งตู้ TTRS นี้ได้ถึง ๑๒๐ ตู้ตู้ TTRS เปรียบเสมือนตู้โทรศัพท์สาธารณะสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ใช้สำหรับสื่อสารกับบุคคลทั่วไป โดยบริการถ่ายทอดการสื่อสารที่เปิดให้บริการผ่านตู้ TTRS ประกอบไปด้วย
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความสั้น
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่น TTRS Message
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่านอินเตอร์เน็ต
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านอินเตอร์เน็ต
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านตู้ TTRS
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ศูนย์ TTRS จะติดตั้งตู้ TTRS ไว้ตามชุมชนที่มีคนพิการทางการได้ยินอาศัยอยู่ เน้นสถานที่ที่มีการใช้บริการเป็นประจำ อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานราชการต่าง ๆ ปัจจุบัน มีการติดตั้งตู้ TTRS นี้แล้ว ๓๐ ตู้