นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจกรุงไทย (KTBI) ประจำไตรมาสที่ 2/2557 ซึ่งสำรวจจากนักธุรกิจกว่า 2,300 รายทั่วประเทศ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.52 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ระดับ 51.03 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในอนาคต สะท้อนถึงความคาดหวังของนักธุรกิจที่คาดว่าภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังปัญหาทางการเมืองที่กดดันต่อเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าได้ผ่อนคลายลง อีกทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังได้ประกาศนโยบาย และมาตรการเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น การตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร การต่ออายุ VAT 7% คงการเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตรา 20% การส่งเสริม SME ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และการเร่งจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้ทันใช้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจที่สำคัญต่างปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ที่ได้รับปัจจัยบวกจากการสานต่อการลงทุนในระบบคมนาคมขนส่ง และโครงการบริหารจัดการน้ำ และหากมองในมิติของภูมิภาค พบว่าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากการชุมนุมในพื้นที่สงบลง อีกทั้งยังคาดหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการเร่งดำเนินการและสานต่อโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แม้จะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว เช่น แรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่ม EU ในเรื่องแรงงานและการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก จากเหตุการณ์ความตึงเครียดในยูเครนและตะวันออกกลาง ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาที่มีทิศทางปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังภาคเอกชนต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะกลับมารุนแรง หลังจากเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัว ซึ่งธนาคารกรุงไทย พร้อมที่จะดูแลและให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่มั่นคงและมั่งคั่งของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่ม SME ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโต ตามวิสัยทัศน์ KTB Growing Together กรุงไทย ก้าวไกล ไปกับคุณ