ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยว่า ประเทศไทยยังมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสมองและระบบประสาทน้อยมาก ทั้งยังขาดการวิจัยเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร ซึ่งระบบสมองและประสาทของมนุษย์นั้น ถือเป็นระบบสำคัญในการดำรงชีวิต ที่ควบคุมการทำงานการเจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาการ ที่สำคัญสามารถส่งผลโดยตรงกับการเกิดโรคต่างๆ เช่น สมาธิสั้น ความบกพร่องในการเรียนรู้ ความเครียด โรคจากความชรา ฯลฯ
“การประชุมครั้งนี้ จึงได้ระดมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ มานำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าของงานวิชาการที่เกี่ยวกับสมอง จิตใจ และพฤติกรรม ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการค้นหาโอกาสในการศึกษาวิจัยของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์งานวิจัยที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท พร้อมการพัฒนาเครือข่ายและวิธีการสนับสนุนงานวิจัยให้สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ผอ.สวรส. กล่าว
รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล กล่าวว่า ปัญหาสมองและระบบประสาท ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต ที่เกิดจากความเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ อาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ ดังนั้นสมองและระบบประสาท จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การวางยุทธศาสตร์การวิจัยมุ่งเป้าในยุคเปลี่ยนผ่านและปฏิรูปประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย โดยเสนอแนวคิดในการศึกษาวิจัยด้านสมองในอนาคต ประกอบด้วย 1) Think Smart การทำความเข้าใจกับเรื่องการทำงานของสมอง จำเป็นต้องมีความร่วมมือระดับโลกและมีกรอบงานชัดเจน 2) Think Early การป้องกันโรคทางสมองที่สามารถลดอัตราการเกิดโรคทางสมองได้ 3) Think Right งานวิจัยด้านสมองควรสนับสนุนและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 4) Think Innovative สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย โดยมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และ 5) Think Big สร้างความร่วมมือระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มากๆ เช่น ความร่วมมือระดับนานาชาติ
ทางด้าน ศ.กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประสาทศัลยแพทย์อาวุโส เสนอแนวทางในการวิจัยว่า ควรมีการศึกษาวิจัยทางด้านสมอง จิตใจ และพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพราะในแต่ละช่วงอายุ เด็กจะมีพัฒนาการสำหรับการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น พัฒนาการทางด้านภาษา หรือพัฒนาการทางด้านดนตรี ควรจะเริ่มส่งเสริมกันตอนอายุเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยเรื่องสมองมักต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องจิตใจและสังคมร่วมด้วย ดังนั้นงานวิจัยด้านสมองและระบบประสาท จะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก ในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาสังคมของประเทศ ตลอดจนงานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อให้เกิดองค์ความรู้และสร้างพลังในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคต