โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน จัดกิจกรรม “Pet Party:รู้จักโรคฮิตในชิวาวา” พร้อมกิจกรรมบรรยายโรคสะบ้าเคลื่อนและสมองบวมน้ำ

ศุกร์ ๒๕ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๗:๑๗
สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวา สุนัขพันธุ์เล็กที่อาจเล็กที่สุดในโลก คงจะทราบดีว่านอกจากจะฉลาดและจงรักภักดีต่อเจ้าของมากเมื่อเทียบกับสุนัขพันธุ์อื่นๆ แล้ว ยังมีนิสัยสุภาพเรียบร้อย เงียบสงบไม่ค่อยเห่าส่งเสียงรบกวน นอกจากจะถูกรบกวนหรือเห่าเพื่อรักษาที่อยู่อาศัยของตัวเอง นอกจากนี้ยังกล้าหาญ และมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีกับสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ทำให้มีผู้นิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้จำนวนมาก

จากคำกล่าวที่ว่า “No breed is perfect” ไม่มีสุนัขสายพันธุ์ไหนในโลกที่สมบูรณ์ที่สุด ทุกสายพันธุ์มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวเอง ชิวาวาก็เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวมันเองเช่นกัน สำหรับโรคของชิวาวาที่พบบ่อย อาทิ สภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หลอดลมตีบ สภาวะสมองบวมน้ำ ฯลฯซึ่งเจ้าของสุนัขควรให้ความสนใจเรื่องโรคเหล่านี้ให้มากเป็นพิเศษเพื่อให้น้องหมาห่างไกลโรค

เพื่อให้เจ้าของสุนัขพันธุ์ชิวาวาได้มีความรู้เกี่ยวกับโรคฮิตของสุนัขพันธุ์นี้มากขึ้น สำหรับนำไปดูแลป้องกัน ตลอดจนเชิญเจ้าของสุนัขได้มีโอกาสพบปะพูดคุยสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ทางโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันจึงได้ร่วมกับชมรมชิวาวาแห่งประเทศ จัดกิจกรรม “Pet Party: รู้จักโรคฮิตในชิวาว่า” ณ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

โดยเชิญกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขชิวาวามาร่วมสังสรรค์ปาร์ตี้ พร้อมพาสุนัขมาร่วมกิจกรรมสนุกมากมาย อาทิ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจนับเม็ดเลือดโดยทีมสัตวแพทย์ฯ และการประกวดหนุ่ม-สาวปชิวาว่าที่แต่งกายสวยที่สุดในงาน พร้อมกับการอบรมความรู้เกี่ยวกับโรคฮิตในสุนัขสายพันธ์นี้ 2 โรค คือ 1.โรคสะบ้าเคลื่อน และ2.โรคสมองบวมน้ำบรรยายโดยนายสัตวแพทย์บูรพงษ์ สุธีรัตน์แพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ และสัตวแพทย์หญิงปิโยรส โพธิพงศธร แพทย์เฉพาะทางระบบประสาท

นายสัตวแพทย์บูรพงษ์ สุธีรัตน์ แพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อกล่าวว่า ลูกสะบ้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ใช้ในการยืดขา สภาวะลูกสะบ้าเคลื่อนคือการที่ลูกสะบ้าซึ่งปกติจะอยู่ในร่องบริเวณหัวเข่ามีการเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งและหลุดออกจากร่อง หรือหลุดเข้าด้านในหัวเข่า หรือหลุดออกไปด้านข้างของหัวเข่า ซึ่งสุนัขจากมีอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บขาไม่ค่อยลงน้ำหนัก เดินกะเผลกบ่อยขึ้น เดินและยืนแบบผิดปกติเพราะพยายามทิ้งน้ำหนักตัวไปที่ขาหน้าแทน เป็นต้น ส่วนสาเหตุของการเกิดโรค เป็นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากการกระทบกระแทก หากสุนัขเป็นโรคนี้แต่กำเนิดจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นจึงไม่ควรนำสุนัขที่เป็นโรคนี้มาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์โดยการวินิจฉัยของสัตวแพทย์จะทำการซักประวัติและการคลำตรวจร่วมกับการเอกซเรย์ ,CT Scan, MRI สำหรับภาวะลูกสะบ้าเคลื่อนแบ่งออกเป็น 4 เกรดจากเกรด 1 ไม่รุนแรงไปจนถึงเกรด 4 ซึ่งรุนแรงมาก ขึ้นกับว่าลูกสะบ้ามีการเคลื่อนไปมากแค่ไหนและโครงสร้างกระดูกผิดปกติไปมากแค่ไหน เกรดความรุนแรงมักสัมพันธ์กับระดับความเจ็บปวด แต่ไม่เสมอไปทุกราย”

สัตวแพทย์หญิงปิโยรส โพธิพงศธร แพทย์เฉพาะทางระบบประสาท กล่าวว่า โรคน้ำในโพรงสมองมากกว่าปกติเป็นโรคที่พบในสุนัขหลายพันธุ์ ได้แก่ ชิวาวา ปอม ปั๊ก พุเดิ้ลทอย ยอร์กเชียร์ อาการคือสุนัขจะเดินวนเป็นวงกลม ควบคุมตัวเองไม่ได้ ตาบอด เหม่อลอย ชัก สำหรับชิวาวาที่เป็นโรคนี้มักพบว่ากะโหลกไม่ปิด ตาเหล่ หัวกลมโต โดยสาเหตุมี 2 ประการคือ 1.พันธุกรรม ทำให้เป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ถ้าเป็นมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ 2.เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันและโพรงในสมองขยายขนาดตามมา โดยสัตวแพทย์จะวินิจฉัยโรคด้วยการทำอัลตร้าซาวน์ในสุนัขที่กะโหลกบางหรือกะโหลกไม่ปิด แต่วิธีนี้ไม่สามารถบอกความผิดปกติอื่น ๆ ในสมองได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าขนาดโพรงสมองยิ่งกว้างยิ่งทำให้โรครุนแรงขึ้น ส่วนวิธีทำ MRI หรือ CT Scan ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงแต่ก็บอกรอยโรคในสมองและไขสันหลังได้ และการตรวจเลือดเพื่อดูภาวการณ์ติดเชื้อและตรวจหาสาเหตุด้านอื่น สุนัขที่เป็นโรคนี้สามารถรักษาได้ 2 ทางคือ 1.รักษาทางยา ให้ยาขับน้ำหรือยาที่มีผลลดการสร้างน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง รวมทั้งการรักษาที่ตัวสาเหตุของโรค 2.วิธีการผ่าตัด เช่นการใส่ท่อระบายจากสมองมาที่ช่องท้อง ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อและมีข้อจำกัดหลายด้านในการรักษา

คุณเล็ก-ประเสริฐ แซ่ก๊วย ผู้ร่วมงานเจ้าของ “น้องมดดำ” ที่มาร่วมงานในครั้งนี้กล่าวว่าเนื่องจากบ้านอยู่ใกล้จึงสนใจมาร่วมกิจกรรม โดยแต่งตัวน้องมาประกวดด้วยเสื้อผ้าแนวร็อค และได้รางวัลชนะเลิศ เพิ่งมาเป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจมากกว่างานอื่นๆ เพราะมีบรรยากาศดีมาก สถานที่ร่มรื่น วิทยากรเป็นกันเองดีและยังได้ความรู้ดี ๆ กลับไป สำหรับน้องมดดำมากว่า 3 ปีแล้ว น้องมีอาการเกี่ยวกับภาวะโรคสะบ้าข้างซ้าย แต่อาการยังไม่เห็นชัดเพราะเพิ่งเริ่มเป็น จึงอยากมาหาความรู้เรื่องโรคนี้เพิ่มเติม เพื่อนำไปดูแลน้องอย่างเหมาะสม สำหรับอาการของน้องจะพยายามทำกายภาพบำบัดก่อน ซึ่งคุณหมอแนะนำว่าทำได้ ก็จะลองดูและอาจกลับมาขอคำปรึกษากับคุณหมออีก

คุณกุ๋งกิ๋ง-อภิษฐา อยู่พร้อม อีกหนึ่งตัวแทนผู้เข้าร่วมงานเจ้าของน้อง “เกิดรวย” กล่าวว่า “เข้าร่วมกิจกรรมนี้เพราะทราบว่ามีการบรรยายความรู้เกี่ยวกับโรคของสุนัขชิวาวา และยังมีกิจกรรมต่าง ๆ จึงอยากให้น้องมาร่วมกิจกรรมบ้าง งานสนุกและน่าสนใจดีสำหรับน้องเกิดรวย ตอนนี้สุขภาพดีแข็งแรงไม่เป็นโรคเพราะดูแลง่าย เพียงให้อาหาร อาบน้ำ และพาออกกำลังกายเป็นประจำ การมาร่วมกิจกรรมเพียงแต่อยากหาความรู้เพิ่มเติมไว้ป้องกันเท่านั้นสำหรับงานอบรมนี้ได้ประโยชน์มาก เช่น หากน้องมีอาการผิดปกติอย่างไร ก็จะทราบก่อนถึงความน่าจะเป็นของโรคนี้ และให้ระวังอาการดีใจ เพราะจะมีอาการหอบและเป็นตาแดงร่วมด้วย เป็นต้น อยากฝากถึงเพื่อน ๆ ที่เลี้ยงชิวาวา เจ้าของควรรักและ เข้าใจเขา อยู่กับเขา ใกล้ชิดเขา แล้วเขาก็จะเข้าใจ เรา เพราะไม่ว่าเขาเป็นอะไรแม้นิดเดียวเราก็จะทราบถึงความผิดปกติได้”

นอกจากกิจกรรม “Pet Party: รู้จักโรคฮิตในชิวาวา”ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันยังมีโครงการน่าสนใจและกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-887-8321-3 หรือติดตามรายละเอียดและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ทาง

www.facebook.com/tcahFanpageหรือที่www.talingchanpet.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ