ศ.คลินิก พญ. ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และอุปนายกด้านบริการการแพทย์และสังคม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ของเล่นตัวดูดน้ำหรือเบบี้คริสตัลที่กำลังเป็นที่นิยมกันในหมู่เด็กนักเรียนนั้น มีสารประกอบด้วยวัสดุ 2 ชนิดคือ สารโพลิอะคริลาไมด์ (polyacrylamide) และสารไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคโพลิเมอร์ (vinylacetate-ethylene copolymer) โดยสารโพลิอะคริลาไมด์เป็นโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติของการดูดซับน้ำไว้ในโมเลกุลได้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสจนเป็นตุ่มน้ำตามผิวหนังได้ จากข้อมูลเบื้องต้น ผู้ป่วยเด็กรายนี้น่าจะเป็น “โรคตุ่มน้ำเรื้อรังในเด็ก” หรีอเรียกย่อ ๆ ว่า ซีบีดีซิ (CBDC, chronic bullous disease of childhood)
ศ.คลินิก พญ. ศรีศุภลักษณ์ กล่าวว่า โรคตุ่มน้ำตามผิวหนังนั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กเนื่องจากผิวหนังบางกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งมีหลายสาเหตุ ถ้าแบ่งตามระยะเวลา จะแยกเป็น ตุ่มน้ำเฉียบพลัน และตุ่มน้ำเรื้อรัง สำหรับโรคตุ่มน้ำเฉียบพลัน ได้แก่ โรคแผลพุพอง (bullous impetigo) ที่เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรีย, โรคเริม, โรคสุกใส, โรคงูสวัด, ผื่นแพ้สัมผัส, ผื่นแมลงกัด, และผื่นแพ้ยา ซึ่งมักไม่เป็นปํญหาในการวินิจฉัยและรักษา ส่วนโรคตุ่มน้ำเรื้อรัง ซึ่งพบได้ไม่บ่อย ได้แก่ โรคตุ่มน้ำพองใส หรือ โรคเด็กผีเสื้อ (epidermolysis bullosa, EB) เป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นตั้งแต่แรกเกิดหรือวัยทารก ผิวหนังจะพองเป็นตุ่มน้ำหลังจากการเสียดสีเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่หาย
โรคตุ่มน้ำเรื้อรังที่พบไม่บ่อยอีกกลุ่ม คือ โรคตุ่มน้ำอิมมูน เช่น โรคตุ่มน้ำเรื้อรังในเด็ก (chronic bullous disease of childhood, CBDC) สาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติมีแอนติบอดี้ในเลือดไปเกาะที่ชั้นผิวหนัง ทำให้มีการแยกตัวชองชั้นผิวหนังเกิดเป็นตุ่มน้ำพองใส โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุ 1-6 ปี ลักษณะเป็นตุ่มน้ำพองใสขนาดต่าง ๆ กัน บางครั้งเป็นรูปร่างเหมือนกุหลาบหรือรูปหยดน้ำ พบที่หน้า แขนขา ลำตัว มือเท้า มีอาการคันร่วมด้วย การวินิจฉัยที่แน่นอนจำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อส่งตรวจพยาธิวิทยารวมถึงการตรวจพิเศษอิมมูนเรืองแสง (immunofluorescence) จะพบลักษณะ linear IgA deposit at basement membrane ซึ่งโรคในกลุ่มนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยใช้ยากินต่อเนื่อง
โรคตุ่มน้ำเรื้อรังในเด็ก รูปร่างตุ่มน้ำคล้ายกุหลาบหรือรูปหยดน้ำ
โรคตุ่มน้ำเรื้อรังในเด็ก ลักษณะตุ่มน้ำพองตึงที่ลำตัว
ทั้งนี้จากข้อมูลงานโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ปี พ.ศ. 2526-2543 พบว่า มีผู้ป่วยโรคตุ่มน้ำเรื้อรังในเด็กเพียง 24 ราย และทุกรายตุ่มน้ำตามร่างกายยุบหายหมดจนเป็นปกติหลังการรักษา ส่วนโรคตุ่มน้ำอิมมูนอื่น ๆ เช่น เพมฟิกัส (pemphigus) หรือ บูลัสเพมฟิกอยด์ (bullous pemphigoid) นั้น เป็นโรคตุ่มน้ำที่พบในผู้ใหญ่ ไม่ค่อยพบในเด็ก
โรคตุ่มน้ำในเด็ก เกิดจากหลายสาเหตุ บางชนิดสามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง บางชนิดจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัย หากบุตรหลานมีอาการตุ่มน้ำพองเกิดขึ้น ผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์ เพราะสาเหตุของการเกิดตุ่มน้ำในเด็กบางชนิดอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และหากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคตุ่มน้ำในเด็ก สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th