กรมวิทย์ฯ ปรับกลยุทธ์กำจัดตัว “เรือด” หวั่น!! กระทบภาพลักษณ์ท่องเที่ยว

อังคาร ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๐:๑๒
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปรับกลยุทธ์และวิธีการกำจัดตัว“เรือด”แมลงที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศหลังพบข้อมูลชี้ช่วง 2-3ปีที่ผ่านมายังคงมีการตรวจเจอตัวเรือดอย่างต่อเนื่องหวั่น!! กระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวหลังเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการปรับกลยุทธ์การกำจัดแมลงที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขว่า“ตัวเรือด”หรือ “เบด บั๊ก” bed bug เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่พบว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศและเป็นปัญหาของหน่วยงานหลายๆแห่ง ซึ่งตัวเรือดจะสามารถแพร่ขยายพันธุ์และเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว และมักซ่อนตัวอยู่ตามที่นอน ซอกเตียง เก้าอี้ พื้นกระดานและรอยแตกของอาคาร โดยเฉพาะตามที่สาธารณะเช่น โรงแรม โรงหนัง ค่ายทหาร โรงเรียน ในรถไฟและรถยนต์หรือแม้แต่บนเครื่องบินฯลฯ ในต่างประเทศมีรายงานการพบตัวเรือดมากขึ้นในหลายทวีป เช่น อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ออสเตเลีย และเอเชีย ส่วนประเทศไทยจากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาตัวเรือดในโรงแรมหรือเกสต์เฮาส์ในแหล่งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมายังคงมีการตรวจเจอตัวเรือดอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนใหญ่ตัวเรือดมักจะติดมากับเสื้อผ้าของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อเข้ามาพักในโรงแรม จึงอาจมีการขยายพันธุ์ อาศัยและซ่อนตัววางไข่อยู่ตามร่องไม้หัวเตียง ใต้ที่นอน ตามขอบหรือตะเข็บที่นอน

“ตัวเรือด”นอกจากจะก่อความรำคาญจากการกัดและรบกวนการนอนของคน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายทรุดโทรม โปรตีนจากน้ำลายยังมีพิษทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดมีอาการบวม ผื่นแพ้และอักเสบ และตัวเรือดยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากบุคคลหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้ กรณีที่ตัวเรือดไปกัดคนที่มีเชื้อดังกล่าว นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่ เชื้อทริพาโนโซมา ครูไซ (Trypanosoma cruzi) ซึ่งเป็นเชื้อพยาธิในเลือดได้ด้วย โดยล่าสุดงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาเมื่อปี 2554 ยังระบุอีกว่าตัวเรือดดื้อต่อยาปฏิชีวนะด้วย จึงทำให้เกิดอุปสรรค์และยากต่อการควบคุม หากมีการระบาดของตัวเรือดเกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายแล้วอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมของประเทศได้ในระยะยาว

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ร่วมกับบุคลากรด้านกีฏวิทยาและเจ้าหน้าที่ของโรงแรม รวมถึงผู้ให้บริการกำจัดแมลงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการปรับกลยุทธ์การกำจัดแมลงที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะตัวเรือด พร้อมจัดทำคู่มือสำหรับการป้องกันกำจัดเรือดในโรงแรมและที่พักอาศัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของตัวเรือด แนะนำเทคนิควิธีในการป้องกันกำจัดตัวเรือดอย่างถูกต้องโดยใช้วิธีการผสมผสานหลายๆ ด้าน เช่น การสำรวจและประเมินผลก่อนและหลังการควบคุม การควบคุมโดยใช้วิธีทางกายภาพที่เหมาะสม การจัดการสภาพแวดล้อมของแหล่งที่พบ การใช้สารเคมีกำจัด และการทดสอบความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดแมลงที่ใช้ รวมถึงการใช้เครื่องมือกำจัดแมลงที่เหมาะสม โดยล่าสุดได้มีการทดลองใช้เครื่องพ่นไอน้ำความร้อนสูง Stemar ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้พลังไอน้ำที่มีความร้อนสูงถึง 180 องศาเซลเซียส ฉีดพ่นในบริเวณแหล่งอาศัยของตัวเรือดทำให้ตัวเรือดตายทันทีเมื่อสัมผัสกับไอน้ำ ปราศจากการใช้สารเคมีและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้กำลังมีการพิจารณาให้องค์กรและหน่วยงานที่ให้ความสนใจได้มีโอกาสนำเทคโนโลยีชนิดนี้ไปใช้งานต่อไป./นพ.อภิชัยกล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ