ในปี 2557 ธนาคารดำเนินงานตามนโยบายด้านการสนับสนุน SMEs ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมต่างๆ ทำให้ EXIM BANK สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้า SMEs รายใหม่ได้มากขึ้น ปัจจุบัน EXIM BANK มีจำนวนลูกค้าสินเชื่อที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ถึงร้อยละ 80 ของลูกค้าทั้งหมด มีการอนุมัติวงเงินเพิ่มใหม่ในปีเท่ากับ 3,026 ล้านบาท ยอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เท่ากับ 18,376 ล้านบาท และวงเงินอนุมัติสะสม เท่ากับ 50,257 ล้านบาท
ในส่วนของการสนับสนุนด้านสินเชื่อพาณิชยนาวี EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อรวม 10,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 8,643 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.35 โดยในครึ่งปีแรกของปี 2557 EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อพาณิชยนาวีเพิ่มใหม่ 3,734 ล้านบาท และวงเงินอนุมัติสะสมเท่ากับ 14,054 ล้านบาท
สำหรับการสนับสนุนการเข้าตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) โดยเฉพาะใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) นั้น ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินสินเชื่อโครงการลงทุนระหว่างประเทศรวม 51,991 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินอนุมัติสะสมสำหรับโครงการลงทุนใน CLMV ถึง 43,388 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งหมด โดยเป็นวงเงินอนุมัติเพิ่มใหม่ในปีเท่ากับ 6,621 ล้านบาท ขณะที่ยอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เท่ากับ 26,911 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการป้องกันความเสี่ยงเพื่อผลักดันให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับ CLMV ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีวงเงินป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการอยู่ที่ 14,911 ล้านบาท
อีกบทบาทที่สำคัญของ EXIM BANK คือการให้บริการประกันการส่งออก ในครึ่งปีแรกของปี 2557 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจส่งออกภายใต้การรับประกันสะสม 35,684 ล้านบาท โดยผู้เอาประกันที่เป็น SMEs มีมูลค่าการส่งออกภายใต้การรับประกันสะสมเพียง 4,111 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.52 จากมูลค่าธุรกิจรับประกันรวมเท่านั้น ทั้งนี้ EXIM BANK มีการอนุมัติบริการประกันการลงทุนเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในประเทศพม่ามีมูลค่าวงเงินรับประกัน 51 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีหลังของปี 2557 EXIM BANK ยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งการขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทยกับประเทศใน AEC โดยเฉพาะ CLMV จากการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยควบคู่ไปกับการส่งเสริมการส่งออกและลงทุนตามยุทธศาสตร์ประเทศและนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ยังมีการขยายการบริการทางด้านรับประกันเพิ่มขึ้น เช่น บริการประกันการส่งออกระยะสั้นที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงทางด้านการค้าและการเมืองที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าภายหลังการส่งออกไม่เกิน 180 วัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้บริการของ EXIM BANK เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการจากคู่ค้าในต่างประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงจากการไปลงทุนในต่างประเทศ