กรมการแพทย์ถอดบทเรียนการทำงาน จากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 56-57 เตรียมพัฒนาเป็นระบบและจัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติงาน

พุธ ๓๐ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๒๗
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจับมือเครือข่าย สะท้อนปัญหาและอุปสรรค ถอดบทเรียน จากการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีเหตุชุมนุมทางการเมือง เตรียมพัฒนาเป็นระบบ และจัดทำคู่มือปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างรอบด้าน ขยายผลสู่การรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ในอนาคต

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนการดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีชุมนุมทางการเมือง ว่า จากเหตุชุมนุม ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2556 - พฤษภาคม 2557 ทำให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว และทันท่วงที กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และทีมแพทย์อาสา มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิปอเต็กตึ้ง มูลนิธิร่มไทร และอื่นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนั้นกระบวนการทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการดำเนินการตามการประเมินสถานการณ์วันต่อวัน และมีการปรับแผนดูแลช่วยเหลือผู้ชุมนุมตลอดเวลา โดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การปฏิบัติงานของศูนย์ฯ มีการเฝ้าระวังเหตุและจัดทีมหน่วยกู้ชีพ รองรับการปฏิบัติการวันละ 30 ทีม ซึ่งจะเป็นทีมส่วนหน้าที่จะต้องเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุ ดูแลปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างทันท่วงที รวมทั้งนำส่งต่อหน่วยกู้ชีพขั้นสูง และนำส่งโรงพยาบาลต่อไป รวมแล้วมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยแยกเป็นผู้บาดเจ็บ จำนวน 834 ราย และผู้เสียชีวิต จำนวน 28 ราย ทั้งนี้ ได้มีการสะท้อนปัญหาจากฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมทำงาน พบว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ ต่อการดำเนินงานช่วยเหลือที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ปัญหา ในการสั่งการระหว่างหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อนกัน ปัญหาการทับซ้อนพื้นที่ในการปฏิบัติการช่วยเหลือระหว่างหน่วยต่างๆ ทั้งศูนย์เอราวัณ กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิ รวมทั้ง ขาดสิ่งสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณในการบริหารจัดการ กำลังคน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ที่ช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความคล่องตัว และปัญหาในการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ก่อให้เกิดความสับสนในการสื่อสารข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องตัวเลข และรายชื่อของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตลอดจนปัญหาการดูแลความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครต่างๆ ด้วย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ กรมการแพทย์ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนหลัก ในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หน่วยแพทย์ทหารของกระทรวงกลาโหม หน่วยแพทย์ของตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิปอเต็กตึ้ง มูลนิธิร่มไทร และมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งทีมแพทย์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และทีมแพทย์อาสา ร่วมถอดบทเรียนการปฏิบัติงานเพื่อใช้เป็นแม่แบบการจัดระบบการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งกทม.และต่างจังหวัด ใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ระบบการประสานและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.การทำงานของทีมปฏิบัติการ ทั้งทีมกู้ชีพฉุกเฉินชั้นสูงและพื้นฐาน 3.การดูแลผู้ชุมนุม 4.การบริหารจัดการและการสนับสนุนต่างๆ และ5.ระบบการรวบรวมข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุม

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหน้า เปิดเผยว่า การสรุปบทเรียนครั้งนี้ พบสิ่งที่ต้องปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น คือระบบการประสานสั่งการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีระบบเดียวใช้ครอบคลุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดช่องว่างโดยกำหนดให้ศูนย์เอราวัณหรือสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในการประสานสั่งการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการจัดระบบการดูแลฟื้นฟูสุขภาพจิต ผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุทั้งทางตรงและอ้อม เช่นผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครต่างๆ จัดระบบสนับสนุนยา และเวชภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการเจ็บป่วยของผู้ชุมนุม จัดเครื่องป้องกันอันตรายที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บแก่บุคลากรกู้ชีพในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ดียิ่งขึ้น และมีการจัดเตรียมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นกองหนุน ให้สามารถเดินทางไปดูแลผู้บาดเจ็บ ในโรงพยาบาลอื่นๆได้ รวมถึงการสร้างความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ในกรณีที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในระหว่างที่มีการปะทะ ตลอดจนระบบการจัดการสุขาภิบาลเรื่องน้ำ อาหาร ขยะ และส้วม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ชุมนุม

สำหรับระบบข้อมูลนั้นให้รวบรวมจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตให้เป็นข้อมูลเดียวกัน รวมทั้งสถานการณ์การใช้อาวุธ เพื่อใช้ในการวางแผนตัดสินใจของผู้บริหารในการสั่งการได้อย่างทันท่วงที ป้องกันการปล่อยข่าวลวงและลดความสับสนแก่ประชาชน ซึ่งบทเรียนที่ได้ทั้งหมดนี้กระทรวงสาธารณสุข จะนำไปขยายผลในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินในทุกสถานการณ์ ทั้งการเมืองและอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียให้มากที่สุด และจะจัดทำเป็นเอกสารคู่มือแนวทางปฏิบัติให้แก่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม