โรคแบคทีเรียกินเนื้อ โรคติดเชื้อที่อันตรายถึงชีวิต

พฤหัส ๓๑ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๐๙:๓๓
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ถึงแม้จะเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่อันตรายมาก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ถ้ารับการรักษาไม่ทันท่วงที

พญ. จรัสศรี ฬียาพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาชิกสามัญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าตามที่มีข่าวกรณีชายถูกเงี่ยงปลาตำ มีเนื้อเยื่อเน่าตาย มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วเสียชีวิต จากโรคแบคทีเรียกินเนี้อนั้น โรคนี้คีออะไรกันแน่ อันตรายมากน้อยแค่ไหน และจะป้องกันได้อย่างไร ซึ่งทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯเป็นห่วงเรื่องนี้อย่างยิ่ง สำหรับ แบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating disease) หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า necrotizing fasciitis เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมัน ลงไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (fascia) เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก มักพบในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคเบาหวาน หรือโรคตับแข็ง การติดเชื้อมักพบหลังประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการและอาการแสดงรุนแรง มักมีไข้ ปวดบวม แดงร้อนบริเวณบาดแผล การวินิจฉัยและรักษาในระยะต้นของโรคจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

สาเหตุของโรคนี้ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ได้แก่ Group A streptococcus (Streptococcus pyogenes), Staphylococcus aureus, Clostridium perfringens, Bacteroides fragilis, Aeromonas hydrophila โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดที่แรก เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน และชนิดที่สอง เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน ในอดีตการติดเชื้อชนิดเดียวมักเกิดจาก group A streptococcus และ Staphylococcus spp. แต่ปัจจุบันพบว่าเกิดจากเชื้อ methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) เพิ่มมากขึ้น ลักษณะอาการแสดงที่พบในระยะแรก คือ มีอาการเจ็บปวดบวม แดง ร้อน ที่ผิวหนังอย่างมาก โดยมักพบบ่อยที่บริเวณแขนและขา อาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายเกิดขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวด มักจะมีไข้สูงและการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อคและมีการทำงานของตับไตที่ลดลง

พญ. จรัสศรี กล่าว่า การวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การผ่าตัด โดยจะพบว่ามีการติดเชื้อหรือการตายของเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ร่วมถึงการตัดชื้นเนื้อส่งเพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค ทั้งนี้ต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น, เชื้อวัณโรคชนิดอื่น และโรคเส้นเลือดอักเสบรุนแรงที่อาจทำให้เกิดเนื้อตายได้ ส่วนการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล การรักษาเฉพาะ คือ การใช้ยาต้านจุลชีพในรูปยาฉีดร่วมกับการผ่าตัด ด้านการพยากรณ์โรค ผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 17-49 % ขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและบริเวณของการติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคตับแข็ง จะทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนบริเวณของการติดเชื้อที่กว้างหรือลึกมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น พบว่าการวินิจฉัยโรคและการรักษาตั้งแต่ระยะต้นของโรคสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้

คำแนะนำในการดูแลเบื้องต้นและการป้องกันโรค นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลที่ผิวหนัง แต่ถ้ามีบาดแผลที่ผิวหนังแล้วต้องไม่ให้บาดแผลไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ทันที ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตัวเอง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะส่งเสริมการติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น, ถ้าบาดแผลที่ผิวหนังมีอาการปวดบวมแดงร้อน หรือมีไข้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที, สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง เมื่อมีบาดแผลจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ จะต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคแบคทีเรียกินเนื้อ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th หรือ http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1220&cid=12#.U9RvauOSz5t

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version