"ปรับวิธีเลี้ยง...เปลี่ยนชีวิตลูก....พร้อมก้าวสู่ AEC" พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกมีชีวิตที่ยอดเยี่ยม พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกมีความสุขตลอดชีวิต ...แล้วอะไรคือตัวชี้วัดว่าลูกเราจะเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น
พญ.จิตรา วงศ์บุญสิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า : เวลาเด็กมีความสุขเราสามารถสัมผัสได้ถึงพลัง ความมีชีวิตชีวา ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเขาดูง่ายและสง่างาม ปัญหาคือเราจะเรียนรู้การมีความสุขจากที่ไหน ความสุขไม่อาจหาเรียนได้เหมือนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย จากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับความสุขหลายสิบเล่ม พบว่าเราไม่อาจให้ลูกอยู่แต่ในสถานที่ที่ปลอดปัญหา แต่เราเลือกที่จะมีความสุขร่วมไปกับลูก สอนให้ลูกเผชิญหน้าและแก้ปัญหาเป็น
“อยากให้ลูกมีความสุข” เป็นความปรารถนาสูงสุดของพ่อแม่ทุกคน เพราะแค่มีความสุขลูกของพ่อแม่ก็ได้รับประโยชน์ที่ส่งเสริมให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกมาก จากการวิจัยพบว่า คนที่มีความสุขจะมีภูมิต้านทานดี มีอายุยืน ทำงานได้ประสิทธิภาพสูง มีชีวิตคู่ที่ยืนยาว มีความกระตือรือร้น และยืดหยุ่น เป็นหัวหน้าที่ดี มีความประนีประนอม อารมณ์ดี และมีกิจกรรมทางสังคม เอื้อเฟื้อและรู้จักเสียสละเพื่อสังคม
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า ความสุขคืออะไร ความสุขคือความพอใจ ปิติ รู้สึกว่าชีวิตน่าอยู่ มีความหมาย จนอยากให้เวลาหยุดอยู่ ณ ตรงจุดนี้ จากการวิจัยพบว่า สิ่งที่ส่งผลกับความสุขนั้นแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเยาว์
พันธุกรรม มีผลกับความสุขถึง 50% สังเกตดูว่าบางชนชาติมีความรื่นรมย์ รื่นเริง ตลอดเวลา เช่นเดียวกับคนไทย ไม่ว่าจะในสานการณ์ที่ตึงเครียดมากแค่ไหน เราก็มักจะเห็นรอยยิ้ม ความบันเทิงแฝงมาด้วยเสมอ เชื้อชาติที่มียีนแห่งความสุขอยู่ในตัวนับว่าโชคดี เพราะมีความสุขได้ง่าย
สิ่งแวดล้อม หมายถึงการทำให้ลูกได้รับสิ่งต่างๆตามความต้องการ เช่นการซื้อของที่ลูกอยากได้ การตามใจลูก การพาลูกไปในที่ที่ลูกอยากไป การให้เรียนโรงเรียนที่ลูกอยากเรียน การสนับสนุนในสิ่งที่ไม่สมควร การเป็นจุดยืนที่ไม่เหมาะสม มีผลกับความสุขเพียง 10%
สิ่งที่ส่งผลในการสร้างความสุขได้สูงถึง 40% คือการเลี้ยงดู หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ความสุขที่สร้างได้
“3สิ่งที่ส่งผลกับความสุขของลูกคือ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก”
ความสุขของลูกพ่อแม่สร้างได้ ความสุขแบ่งออกได้ตามช่วงเวลา คือความสุขระยะสั้นและความสุขที่ยั่งยืน ความสุขระยะสั้น เป็นความสุขที่มักเกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น เงินทอง ข้าวของ ตำแหน่ง ชื่อเสียง เกียรติยศ ที่เมื่อได้ครอบครองเป็นเจ้าของจะรู้สึกดีใจ ภูมิใจ มีความสุขระยะหนึ่ง แล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว ส่วนความสุขที่ยั่งยืน เป็นความรู้สึกที่จะเอิบอาบ ซาบซึมอยู่ในหัวใจ เรียกว่าเป็นขุมพลังงานลับ ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สูญสิ้น ฉะนั้น ต้นทุนของการสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับลูกจึงไม่ใช่สิ่งของหรือเงินตรา แต่เป็น “เวลา ความรักและวิธีการเลี้ยงดู” ต่างหาก
เหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้การมีความสุขบนโลกแห่งความเป็นจริง นั่นคือการมี IQ ดี EQ เยี่ยม โดยเฉพาะ EQ สิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนคือการมีมารยาททางสังคม เช่นการรู้จักกล่าวคำ ขอบคุณ ขอโทษ และการไหว้ นอกจากนี้ต้องสอนให้ลูกมีวินัย มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ต่อสังคม และต่อครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถแสดงออกมาด้วยการเอื้อเฟื้อต่อสิ่งต่างๆรอบข้าง บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง และถูกต้อง นอกจากนี้ต้องสอนให้ลูกรู้จักการทำงานต่างๆให้สำเร็จเป็นงานๆ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบในตัวเองอันจะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตต่อไป
ความสุขที่สำคัญที่สุดอันดับหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ความรัก และความเข้าใจ เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว แต่สิ่งที่เป็นวิตามินเสริมให้ความสัมพันธ์ที่ดีและแข็งแรงขึ้นก็คือการให้เกียรติคำพูด และการแก้ไขที่ปัญหา
การให้เกียรติคำพูดของตนเอง หมายถึง การรักษาคำพูด รักษาสัญญา เมื่อพูดออกไปแล้วต้องทำให้ได้ถ้าทำไม่ได้ต้องรู้จักขอโทษ การให้เกียรติคำพูดจะสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว เพราะจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อกัน สำหรับการแก้ปัญหาต้องมองปัญหาให้ออก แล้วแก้ไขที่ตัวปัญหา หยุดพร่ำบ่นก่นด่าว่าที่ตัวบุคคล นอกจากจะแก้ปัญหาได้แล้ว ยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ได้อีกด้วย
สำหรับลูก คนที่ลูกไว้วางใจได้มากที่สุด ควรเป็นคุณพ่อคุณแม่ เด็กทุกคนไว้ใจพ่อแม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นอย่าทำให้ร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นกลายเป็นตัวแดงติดลบที่จะติดอยู่ในบัญชีความรู้สึกของเขาไปจนเติบใหญ่ “เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถทำตามที่พูดได้ ต้องกล้าที่จะขอโทษ เพื่อรักษาความไว้วางใจของลูก”
สื่อสารกับลูกผ่านความรัก เมื่อพูดถึงลูก นอกจากความรู้สึกรัก แล้ว อีกความรู้สึกหนึ่งที่มักจะตีคู่กันมาด้วยเสมอในใจของพ่อแม่คือ ความกังวล ลูกจะมีความสุขมั้ย ลูกต้องการให้เราช่วยอะไร ลูกจะสุขภาพดีมั้ย ลูกจะโตขึ้นมาเป็นคนที่มีน้ำใจหรือเปล่า ลูกจะอยู่ในสังคมนี้ได้หรือไม่ ฯลฯ ความกังวล และความคาดหวังคือปราการด่านสำคัญที่ทำให้ความรักของพ่อแม่ส่งไปไม่ถึงลูก เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ด้วยการส่งความรักไปถึงลูก ด้วยคำพูด ด้วยการแสดงออกให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่รักเขามากแค่ไหน สัมผัสเขาอย่างนุ่มนวล อ่อนโยน ลูบศรีษะ โอบกอด ดูแลเขาด้วยความรักและเอาใจใส่ เพื่อให้ความรักของพ่อแม่ผ่านไปถึงลูกได้อย่างเต็มร้อย แล้วความรักที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่จะเป็นรากฐานอันแข็งแรงที่จะช่วยต่อยอดความสุขให้ลูกได้
ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ (Nobody ‘s Perfect) ใครๆก็ชอบความสมบูรณืแบบ ใครๆก็อยากมีลูกที่ดีพร้อมสมบูรณ์แบบ และลูกเองก็อยากมีพ่อแม่ในฝัน ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติดีเด่นเช่นกัน มาดูว่าลูกในฝันของพ่อแม่ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
ลูกในฝัน....ทำตามที่พ่อแม่บอก เรียนเก่ง เป็นนักกีฬาด้วยยิ่งดี มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ แบ่งเวลาได้ถูกต้อง อดทน สุขภาพดี ฉลาด ร่าเริงแจ่มใส พูดเพราะ คบแต่เพื่อนดี ๆ รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ ใจเย็นฯ
มาดูว่า พ่อแม่ในฝันของลูกต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง พ่อแม่ในฝันต้อง....รับฟัง ให้อิสระ มีเวลาให้ ให้ข้อคิดที่ดีได้ เก็บเงินไว้ให้ลูก ไม่โกรธ สร้างกิจการไว้ให้ สุขภาพแข็งแรง และเป็นตัวอย่างที่ดี
ความเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูก มีอยู่จริง แต่ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง เราทุกคนไม่ใช่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นลูกของเราก็ไม่จำป็นต้องสมบูรณ์แบบเช่นกัน บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่คืออะไร? คือการเลี้ยงดูลูกในแบบที่ลูกเป็น เพราะเราไม่สามารถเลือกลูกได้ พ่อแม่ต้องรักในสิ่งที่ลูกเป็น คือขี้โรค กินยาก นอนยาก เลี้ยงยาก งอแง ใจน้อย ขี้โมโห สู้ใครก็ไม่ได้เลย และสิ่งที่ลูกไม่เป็น คือ เก่ง ฉลาด หล่อ เรียนเก่ง เล่นกีฬาเก่ง เพียงแค่พ่อแม่เปิดใจยอมรับ คอยช่วยเหลือให้ลูกได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง ดึงความสามารถที่เขามีอยู่ออกมาให้เต็มที่ ความรักที่ไม่มีข้อแม้นี้ก็จะช่วยสร้างสุขและสร้างเสริมศักยภาพให้กับลูกได้ เพราะลูกจะต้องการความรักจากพ่อแม่โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น จึงสรุปได้ว่า “ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง ลูกสามารถมีความสุขในแบบของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร”
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกสงสัย และรู้สึกไม่มั่นคง ต้องรีบ “สะสางความรู้สึก” ของลูกโดยเร็ว พ่อแม่เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ที่สามารถทำผิดพลาดได้ทุกเวลา แต่พึงให้ระลึกไว้เสมอว่า ทุกการกระทำ ทุกคำพูด ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงไรของคนเป็นพ่อแม่ ล้วนส่งถึงอีกชีวิตหนึ่งที่คุณรักที่สุด นั่นคือลูก ดังนั้นอย่าปล่อยให้คำพูดหรือการกระทำของคุณกลายเป็นห่วงโซ่ที่คล้องลูกไว้กับความรู้สึกผิด ทันทีที่รู้สึกตัวว่าใช้ถ้อยคำรุนแรงเกินไป ใช้การกระทำที่รุนแรงเกินไป ขอให้หยุดทันที ขอโทษลูก และย้ำกับเขาเสมอว่า ความรักที่พ่อแม่มอบให้เขานั้นไม่มีเงื่อนไข ไม่มีสิ่งใดมาแปรเปลี่ยนความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกได้ ชีวิตของลูกจะได้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงทางใจ และมีความสุขไปพร้อมๆกัน
พ่อแม่ต้องเป็นจุดยืนให้ลูก พ่อแม่ต้องอยู่ในตำแหน่งที่จะเป็นจุดยืนแห่งความรัก อันมั่นคงให้กับลูกอย่างไม่คลอนแคลน สำหรับการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่มีสิทธิ์เหนื่อยใจ มีสิทธิ์บ่นว่า มีสิทธ์ท้อแท้ ...แต่ไม่มีสิทธิ์ถอดใจ เมื่อลูกล้มเขาต้องมั่นใจว่ายังมีพ่อแม่คอยเป็นหลัก คอยประคองให้เขาลุกขึ้นมาใหม่ เมื่อลูกพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า เขาต้องมั่นใจว่า จะมีพ่อแม่เป็นแรงหนุนนำ เมื่อลูกต้องการความเห็น เขาต้องมั่นใจว่า มีพ่อแม่คอยแนะนำให้ดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่ถูกต้อง เมื่อลูกท้อถอย เขาต้องมั่นใจว่าพ่อแม่คอยเป็นกำลังใจ เป็นพลังชีวิตให้เขา ยืนเคียงข้างเขาตลอดเวลาไม่ว่าลูกจะเจอเรื่องดีหรือเรื่องร้าย
สอนลูกให้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ พ่อแม่มักจะสอนและเน้นเรื่องการเป็น “ผู้ให้” ให้กับลูก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แต่เราอาจลืมไปว่า นอกจากรู้จักเป็นผู้ให้แล้ว การสอนให้ลูกเป็น “ผู้รับ” ก็มีความหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การให้ที่มีคุณค่ามากที่สุดไม่ใช่สิ่งของหรือเงินทอง แต่เป็นการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ ให้ความรัก ให้ความช่วยเหลือ อย่างจริงใจ เต็มความสามารถ โดยไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน และการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการให้โอกาสและให้อภัย
การเป็นผู้รับก็เช่นกัน ไม่ใช่รับเพราะละโมภ เพราะต้องการสิ่งของจากผู้อื่น แต่การเป็นผู้รับนั้นคือการรู้จัก “รับ” น้ำใจที่ผู้อื่นมีให้ต่อเราด้วยเช่นกัน ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ดังนั้นอย่าลืมที่จะให้โอกาสผู้อื่นได้เป็นที่รักด้วยการรู้จักที่จะเป็นผู้รับด้วยเช่นกัน สอนลูกให้เปิดใจ มองให้กว้าง รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้าง รับน้ำใจจากคนอื่นบ้าง มองข้ามมูลค่าที่เป็นตัวเงิน แต่มองทะลุผ่านเข้าไปให้เห็นน้ำใจ ความตั้งใจ ความคิดคำนึงของผู้ให้ ที่มาพร้อมกับการให้นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของผู้ให้หรือผู้รับ ลูกของพ่อแม่ก็จะมีความสุขได้เสมอ
ความสุขที่ยั่งยืนของลูก สามารถออกแบบได้ด้วยสองมือของพ่อแม่ เริ่มจากการเลี้ยง และดูแลด้วยตัวเอง เพราะการที่คุณพ่อคุณแม่ได้อยู่เคียงข้าง สัมผัสทุกอารมณ์ ความรู้สึก และส่งผ่านความรักจากหัวใจตนเองไปสู่หัวใจลูกโดยตรงนั้นก็เหมือนการต่อปลั๊กที่จะสามารถส่งพลังความคิด ความรู้สึกด้านบวกไปถึงลูกได้โดยตรง เป็นการเชื่อมใจ เชื่อมความรู้สึกถึงกันอย่างมีระบบการสื่อสารใดก็ไม่สามารถทำได้ เป็นต้นทุนความสุขชั้นดีกับหัวใจดวงน้อยของลูก จากนั้นจึงลงมือ ก่อร่างสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับชีวิตของเขา ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สร้างความไว้วางใจ แตกหน่อต่อยอดความรักให้ลูกด้วยการสอนให้เขารู้จักเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ
ใช้ความรักและความเข้าใจ พูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา เริ่มต้นฟังจากความว่างเปล่า และไม่ตอกย้ำซ้ำรอยแผลหรือความผิดพลาดในอดีต อยู่เคียงข้างเมื่อเขาก้าวพลาดหรือผิดพลั้ง ใช้การโน้มน้าวให้เกิดความรู้สึกเต็มใจทำมากกว่าการบังคับ เมื่อใดที่ลูกมั่นใจว่าเขาสมารถก้าวเดินได้ด้วยตัวเอง อย่าลืมส่งพลังหนุนเต็มร้อยให้เขา แล้วลูกที่พ่อแม่รักที่สุดคนนี้ก็จะสามารถเติบใหญ่และก้าวเดินไปในโลกกว้างได้อย่างมีความสุข สมความตั้งใจของพ่อแม่
เรียบเรียงโดย : จตุพร ธัมมปที ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี
หมายเหตุ: พญ.จิตรา วงศ์บุญสิน กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลบางปะกอก 1 / วิทยากรพิเศษบรรยายเรื่อง “เรียนเพื่อเพิ่มศักยภาพ (Learn How To Learn) ผู้เขียนหนังสือ Best Seller 3 เล่ม คือ ออกแบบลูกรักด้วยวิธีเลี้ยง ออกแบบความสุขให้ลูกรัก และ 4ขาสู่การเรียนรู้
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: นางจตุพร ธัมมปที โทร. 0867115888 e-mail :[email protected] และสามารถเยี่ยมชมกิจกรรมโรงเรีย www.facebook.com/SKTParentNetwork