สำหรับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 3-8 ปี จากแรงขายของนักลงทุนในประเทศ เพื่อปรับพอร์ต หลังจากการที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะเวลา 8 ปี วงเงินลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท การชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วโดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร อายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 basis point (bps.) มาอยู่ที่ 2.39% ต่อปี อายุ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 bps.มาอยู่ที่ 3.12% ต่อปี อายุ 8 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 bps.มาอยู่ที่ 3.51% ต่อปี และอายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.64% ต่อปี
ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. โดยรวมแล้วส่งสัญญาณอ่อนแอต่อเนื่อง การบริโภค-การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวปรับลดลงถึง 14.1%MoM ซึ่งเป็นผลกระทบจากเคอร์ฟิวซึ่งมีผลบังคับใช้ในขณะนั้น ถูกยกเลิกในช่วงปลาย มิถุนายน ฝ่ายวิจัยของบลจ. กรุงไทย เชื่อว่าทิศทางอุปสงค์ก็น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นในเดือนถัดๆ ไปจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อการดำเนินงานของ คสช. ตามโรดแมพที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะนำมาสู่การเลือกนายกฯ มาบริหารประเทศ และผลักดันโครงการลงทุน 2.4 ล้านล้านบาทให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ยังคงไม่ดี และระดับสินค้าคงคลังที่ยังคงอยู่ในระดับสูงน่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญในช่วงถัดไป ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีการปรับประมาณการเติบโตในปีนี้ลงเหลือ 2.0% จาก 2.6% ขณะที่บลจ. กรุงไทยยังคงมองการเติบโตเพียง 1.1% เท่านั้นในปีนี้ แต่ในปีหน้ามองการเติบโตสูงในระดับกว่า 5%