สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) กระตุ้นอุตสาหกรรมเพลงไทยตื่นตัวเร่งตรวจสอบลิขสิทธิ์ ในโลกออนไลน์ หลังพบการละเมิดสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผนึกกำลังกับค่ายเพลงอิสระเข้าเป็นสมาชิกรวม 12 บริษัท และแต่งตั้ง “รณพงศ์ คำนวณทิพย์” นั่งแท่นนายกสมาคม หวังเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมเพลงไทย
นายรณพงศ์ คำนวณทิพย์ (Mr. Ronnapong Kamnuanthip) นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (Director and Chairman of Thai Entertainment Content Trade Association) หรือ TECA เปิดเผยในโอกาสเข้ามารับตำแหน่งว่า TECA จะยังคงสานต่อภารกิจ (Mission) หลัก 3 ประการอันประกอบด้วยมุ่งส่งเสริม คุณค่าของงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์,ปกป้องคุ้มครองงานสร้างสรรค์อันมี ลิขสิทธิ์และเผยแพร่ การใช้งานสร้างสรรค์ อันมีลิขสิทธิ์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบัน TECA มีบทบาทและหน้าที่สำคัญ 8 ประการ ได้แก่
1.สนับสนุนและส่งเสริมกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อให้มีการ คุ้มครองสิทธิ ในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ
2.ปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่สมาชิกรวมถึงต่อต้านการ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
3.ให้อิสรภาพแก่สมาชิกในการดำเนินธุรกิจของตนโดยสมาคมฯ จะดูแลงาน ด้านกฎหมายและการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทาง ปัญญาแทนสมาชิก
4.แสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมวิสาหกิจของสมาชิกในอุตสาหกรรม
5.จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่สมาชิก
6.สร้างระบบเครือข่ายและแสวงหาพันธมิตร
7.สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่ออุตสาหกรรมต่อสังคมและต่อประเทศชาติ
8.พัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศ
ซึ่งปัจจุบัน TECA มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 12 ราย ประกอบด้วย บริษัท บีอีซี-เทโร มิวสิค จำกัด บริษัท ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โซนี่ มิวสิค เอนเทอร์เทนเมนต์ โอเปอร์เรติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท รีโวล์ มิวสิค ครีเอชั่น จำกัด, บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค แอนด์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด, บริษัท ฮิตแมน จำกัด, บริษัท สไปร์ซซี่ ดิสก์ จำกัด, บริษัท บีลีฟ เรคคอร์ด จำกัด, บริษัท โอเชี่ยน มีเดีย จำกัด บริษัท โอเรียนท์ มิวสิค จำกัด และ บริษัท โมบาย อินดี้ ดิจิตอล จำกัด โดยสมาคมฯ ยังเดินหน้าเปิดรับสมาชิกใหม่เพื่อเข้าร่วมเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรม เพลงไทยอย่างต่อเนื่อง “การรวมตัวกันในฐานะสมาชิกของ TECA ของเหล่าศิลปินและค่ายเพลงชั้นนำของเมืองไทย เพื่อยกระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเพลงไทยในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงศักยภาพความพร้อมทั้งในด้านการ สร้างสรรค์ผลงานโดย TECA จะเป็นสะพานเชื่อมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากพันธมิตรหลากประเทศทั่วโลกและที่สำคัญคือการให้ความรู้ และคำแนะนำด้านข้อกฎหมายตลอดจนการแสวงหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์ ให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง” นายรณพงศ์ คำนวณทิพย์ กล่าว
ต่อประเด็นคำถามเกี่ยวกับภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงของไทยนั้น นายรณพงศ์ กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา ตลาดรวมของอุตสาหกรรมเพลงไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,280 ล้านบาท แบ่งเป็น Physical ที่ 630 ล้านบาท, Digital ที่ 1,080 ล้านบาท, Music Liensing ที่ 460 ล้านบาท, อื่นๆ ได้แก่ งานคอนเสิรต์, อีเว้นท์ และการบริหารสิทธิศิลปินที่ 2,110 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ากลุ่ม Digital เป็นกลุ่มที่กำลังเติบโต โดยมีส่วนแบ่งตลาดได้ประมาณ 25% ในขณะที่ Physical และ Music Licensing และอื่นๆ มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 15% และ 11% และ 49% ตามลำดับ โดย TECA เชื่อมั่นว่าตลาดรวมในอนาคตกลุ่ม Download Music, Subscription และ Advertisement จะมีเทรนด์ที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด โดย TECA คาดว่าในปี 2557 มูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมเพลงในไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนผลงานที่ผ่านมาของ TECA ประกอบด้วย 1. การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ผ่านการ ส่งจดหมายแจ้งเตือนและขอความร่วมมือในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงการรวบรวมข้อมูล หลักฐานและการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด และการปราบปรามการจำหน่ายสินค้า ละเมิดลิขสิทธิ์ บนอินเตอร์เน็ตและการดาวน์โหลดลงโทรศัพท์มือถือ โดยในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตนี้ TECA ขับเคลื่อนเป็นทัพหน้าในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว 2. การประสานงานด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ TECA มีส่วนร่วมในการผลักดันและเสนอข้อคิดเห็นในร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทาง ทางเทคโนโลยี ได้แก่ Digital Right Management (การบริหารข้อมูลสิทธิ์), Anti-Circumvention Measure (มาตรการป้องกันทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูล) และ ISP Cooperation Measure(ความร่วมมือกับผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต) รวมถึงเสนอให้มีการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างเจ้าของทรัพย์สินทาง ปัญญาและผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ตในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ และ 3. การประสานความร่วมมือและสร้างสรรค์ แคมเปญอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อาทิ การผนึกพลังร่วมกับร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา สถานทูต สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรสร้างสรรค์โครงการ “โหลดเล่นๆ ก็เป็นเรื่อง” ตลอดจนการจัดสัมมนาร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักอัยการสูงสุด และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ด้านนายอัง ควี เตียง (Mr. Ang Kwee Tiang) ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-เอเชีย (Regional Director, Asia) สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (International Federation of the Phonographic Industry (IFPI)) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่องแนวโน้มของอุตสาหกรรมเพลง, ลิขสิทธิ์ และเทคโนโลยี ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรม เพลงโลกมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 15.03 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็น สิ่งบันทึกเสียง (Physical) ที่ 7.7 พันล้านบาท, ดิจิตอล (Digital) ที่ 5.9 พันล้านบาท, สิทธิการเผยแพร่สู่สาธารณชน (Performance Rights) ที่ 1.1 พันล้านบาท และ การทำซ้ำสิ่งบันทึกเสียงเข้ากับสื่ออื่นๆ (Synchronization) ที่ 0.3 พันล้านบาท และหาก เปรียบเทียบตลาดรวมเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมากับยุคปัจจุบันจะพบว่า อุตสาหกรรมเพลงของโลกกำลังเดินหน้า เข้าสู่ยุคดิจิตอลดังจะเห็นได้จากยอด ดาวน์โหลดรวมจากทั่วโลกจากเดิม 14% ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 26% ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาด CD มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงจาก 64% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 41%ในปีที่ผ่านมาจากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็น ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิตอลไลฟ์สไตล์ ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในทุกส่วนทั่วโลกในขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องทาง ที่ตรวจสอบ เรื่องลิขสิทธิ์ได้ยากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านการ ตรวจสอบเรื่องลิขสิทธิ์ จึงต้องสร้างเครือข่ายทั่วทุกมุมโลก และทำงานเป็นทีมเพื่อคงคุณค่าลิขสิทธิ์ของงาน เพลงของศิลปินที่ปัจจุบันถูกละเมิด ผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก IFPI ยินดีที่จะให้การสนับสนุนTECA ในฐานะ องค์กร สมาชิกเพื่อช่วยด้านการยกระดับ มาตรฐานการตรวจสอบ ตลอดจนร่วมพัฒนาศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรม เพลงของเมืองไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง