พัฒนาระบบห้องปฏิบัติการ พร้อมรับมือ “โรคติดต่อสัตว์สู่คน”

พฤหัส ๑๔ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๒๑
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดึงเครือข่ายห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพคนและสัตว์ ร่วมพัฒนาศักยภาพการตรวจวินิจฉัย ทั้งระบบเฝ้าระวัง และการตรวจจับเชื้อก่อโรคจากสัตว์สู่คน เตรียมพร้อมรับมือกับโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน แม้บางโรคยังไม่เคยเจอในประเทศไทย

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เกินกว่าครึ่งของโรคต่างๆที่คนเป็นนั้น เป็นโรคที่เกิดจากสัตว์เป็นพาหนะนำมาสู่คน จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า 61% ของโรคติดเชื้อในคนเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และอีก 75% ของโรคอุบัติใหม่ก็เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์สู่คนเช่นกัน ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation 2005) หรือ IHR โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือให้ได้ทันที ดังนั้นในประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพระบบการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคทางห้องปฏิบัติการอยู่อย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้รับทุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) ภายใต้โครงการ IDENTIFY ผ่านองค์การอนามัยโลก ให้จัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ตามแนวทาง IHR ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกห้องปฏิบัติการอยู่ 64 แห่ง และในปีนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายและเชื่อมโยงเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั้ง 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายของห้องปฏิบัติการที่ดูแลสุขภาพของคน และห้องปฏิบัติการที่ดูแลสุขภาพของสัตว์ ให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการให้พร้อมต่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีมากกว่า 200 ชนิด เช่น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พาราสิตและราแบ่งเป็น2 ส่วนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในภาคทฤษฎีจะมีการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อให้ความรู้เรื่องกลไกลการทำให้เกิดโรคต่างๆ โดยเน้นการศึกษาใน 5 โรคสำคัญซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่พบหรือเคยพบในอดีต ได้แก่ โรคแอนแทรกช์ กาฬโรค โรคติดเชื้อไวรัสเวสไนล์ รวมถึงโรคที่พบเป็นประจำทุกปีอย่างโรคไข้เลือดออกและโรคฉี่หนู ซึ่งจะเป็นตัวอย่างโรคที่จะนำมาวางระบบมาตรฐานและเชื่อมต่อข้อมูลการตรวจวินิจฉัยร่วมกันในห้องปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับภาคปฏิบัติจะมีการใช้เทคนิคต่างๆในการตรวจวินิจฉัย พิสูจน์ยืนยันผลอย่างรวดเร็วและทันสมัย ช่วยให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างคนและสัตว์ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 3 ปี ระบบห้องปฏิบัติการระหว่างคนกับสัตว์ก็จะเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์

แพทย์หญิงวารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 จะเกิดการรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกัน ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาอาจมีบางคนที่กำลังป่วยหรือป่วยอยู่แล้วเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าคนๆนั้นจะนำโรคเข้ามาด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะบางโรคที่จะทำการศึกษา เช่นกาฬโรค ซึ่งเคยเกิดการระบาดมาแล้วในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีบางโรคที่ยังไม่เคยเจอในประเทศไทย แต่จำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการตรวจวินิจฉัย และวิเคราะห์โรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เพื่อการรับมือกับโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้น โดยเครือข่ายห้องปฏิบัติการจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้รู้หน้าที่หลักๆ เช่น ต้องสามารถเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจได้อย่างถูกต้อง ต้องสามารถตรวจเชื้อบางชนิดได้เองในเบื้องต้น ฯลฯ ส่วนมาตรการควบคุมป้องกันโรคขณะนี้มีอยู่ 3 ข้อคือ 1.ตรวจให้เจอ 2.เมื่อตรวจเจอต้องมีการเข้าไปปฏิบัติการรักษาควบคุม และ 3.การป้องกันไม่ให้มีการเกิดขึ้นของโรค ทั้งนี้ได้แบ่งภารกิจการทำงานระหว่างกรมวิทย์ฯ กรมควบคุมโรค ปศุสัตว์ และโรงพยาบาลเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทย์ฯ และกรมปศุสัตว์ จะมีหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยแล้วส่งต่อข้อมูลทั้งหมดให้แก่กรมควบคุมโรค ซึ่งมีหน้าที่เข้าไปสำรวจตรวจสอบพร้อมกับศึกษาสาเหตุของการแพร่ระบาดและวางมาตรการป้องกันโรคและไม่ให้เกิดซ้ำ

ด้านนายแพทย์สมชาย แสงกิจพร ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข บอกว่า แต่เดิมนั้นการทำงานของห้องปฏิบัติการในแต่ละเครือข่าย ขาดการประสานเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ จึงทำให้เกิดปัญหาการส่งต่อข้อมูลที่ล่าช้าและไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อการป้องกันควบคุมโรคที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการตรวจชันสูตรโรคระดับภูมิภาคอาเซียน จึงรับหน้าที่เป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงห้องปฏิบัติการทั้งสองส่วนให้มีการวางระบบและส่งข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังโรคจากสัตว์สู่คน ซึ่งจะช่วยให้การตรวจวินิจฉัย การเฝ้าระวังและการรายงานโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วเป็นระบบส่งผลต่อการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ขึ้น ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อจำนวน 31 แห่ง สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนกลาง 2 แห่ง คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ส่วนภูมิภาคประกอบด้วยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง รวมถึงโรงพยาลทั้งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายห้องปฏิบัติการแล้ว 64 แห่ง เพื่อเป็นการวางรากฐานการส่งตรวจวินิจฉัยและการส่งต่อข้อมูลต่างๆ อย่างครอบคลุมและรวดเร็วได้ในอนาคต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version