จากกรณีที่มีประเด็นข่าวกล่าวถึงพื้นที่บริเวณโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีรีสอร์ทและคอนโดมีเนียมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีการเจาะน้ำบาดาลเพื่อนำขึ้นมาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้แหล่งน้ำใต้ดินมีปริมาณลดน้อยลง จนอาจก่อให้เกิดวิกฤติแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงลำตะคองขาดแคลน และเสี่ยงต่อการถล่มของชั้นหินเนื่องจากการยุบตัวของชั้นหินปูนนั้น
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลชี้แจงว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2555-2557 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการประเมินศักยภาพและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในกลุ่มหินสระบุรีและพื้นที่ที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน ซึ่งมีขอบเขตของพื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี ลพบุรีและนครราชสีมาเนื้อที่ประมาณ 6,000 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ที่ปรากฏตามข่าวดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ด้วย โดยลักษณะของชั้นน้ำบาดาลในกลุ่มหินสระบุรี ประกอบด้วยชั้นหินปูนเป็นหลัก สลับด้วย
หินดินดานและหินเชิร์ต หินแปรบางส่วน โดยบางบริเวณมีหินภูเขาไฟ หินตะกอนชุดโคราชและหินแกรนิต ซึ่งมีการแทรกดันขึ้นมา ผลการศึกษาประเมินศักยภาพโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า ปริมาณการเติมน้ำเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 5.98 ของปริมาณน้ำฝนแต่ละปี (ปริมาณฝนตกในพื้นที่โครงการเฉลี่ย 1,200มิลลิเมตรต่อปี) ปริมาณการเติมน้ำลงสู่แหล่งน้ำบาดาลในกลุ่มหินสระบุรีประมาณ 309 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี และพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลหมูสี ตำบลขนงพระ ตำบลหนองน้ำแดง ตำบลปากช่อง ตำบลหนองสาหร่าย และตำบลจันทึก ในเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณการใช้น้ำบาดาลต่อปีน้อยกว่าปริมาณน้ำที่เติมต่อปี ดังนั้น ในประเด็นข่าวต่างๆ สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1) ระดับน้ำลำตะคอง น้ำตกเหวสุวัตแห้ง ขณะที่ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเท่าเดิม ลำห้วยลำธาร ที่มีอยู่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ น้ำไหลลงสู่ใต้ดินน้อยลง ทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงลำตะคองน้อยลงไปด้วย
ข้อเท็จจริง คือ น้ำตกเหวสุวัต ตั้งอยู่ในพื้นที่หินภูเขาไฟซึ่งมีศักยภาพในการให้น้ำบาดาลต่ำ มีความสามารถในการซึมผ่านของน้ำต่ำ เมื่อฝนตกลงมาจึงมีการไหลไปบนพื้นดินมากกว่า การซึมลงสู่ชั้น น้ำบาดาล ลักษณะของลำห้วยเป็นแบบไหลตามฤดูกาล ดังนั้น ช่วงหน้าแล้งน้ำจะแห้งหรือน้อยลง ทำให้น้ำจากลำห้วยซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกมีปริมาณน้อยลงไปด้วย
2) พื้นที่รอบๆอุทยานเขาใหญ่มี รีสอร์ท อพาร์ทเมนท์ และคอนโดมีเนียม จำนวนมาก และขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้ หากไม่มีบ่อน้ำผุดจะไม่มีน้ำไหลลงในลำตะคอง ลำตะคองจะประสบกับความแห้งแล้ง
ข้อเท็จจริง คือ จากการตรวจสอบสภาพอุทกธรณีวิทยาในพิ้นที่หินปูน พบว่าน้ำผุด น้ำซึม น้ำซับ ยังมีน้ำไหลออกมาอย่างสม่ำเสมอ และไหลลงสู่ลำห้วย นอกจากนี้น้ำในชั้นน้ำบาดาลยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าลำห้วยด้านกลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งอยู่สูงกว่าระดับกักเก็บน้ำในอ่างลำตะคอง ดังนั้น น้ำบาดาลยังคงจ่ายน้ำออกมาอย่างสม่ำเสมอ
3) การเจาะบ่อน้ำบาดาลและสูบน้ำบาดาลใช้จำนวนมากของรีสอร์ทและคอนโดมีเนียม ทำให้ น้ำใต้ดินลดลง ลำตะคองไม่ไหล เกิดจากน้ำฝนลงไปทดแทนน้ำใต้ดิน ถ้าน้ำใต้ดินยังไม่เต็ม น้ำก็จะไม่ไหลลงสู่ลำตะคอง
ข้อเท็จจริง คือ
ปริมาณการใช้น้ำต่อปีคิดเป็น ร้อยละ 18.60 ของปริมาณน้ำเพิ่มเติมรายปี จึงยังไม่น่าเกิดผลกระทบต่อระดับน้ำในลำตะคอง
4) พื้นที่อำเภอปากช่อง หินด้านล่างเป็นหินปูน มีความพรุนจากการละลายตัวจนเกิดเป็นโพรงและเป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล เมื่อสูบน้ำมากจะเกิดความเสี่ยงให้เกิดการถล่มของชั้นหินปูนที่เป็นพื้นที่หินปูนและการเจาะบ่อบาดาลที่เพิ่มขึ้นทุกปีทำให้เกิดแผ่นดินทรุดยุบตัวได้
ข้อเท็จจริง คือ ชั้นหินที่รองรับในพื้นที่เป็นกลุ่มหินสระบุรี เป็นหินปูนเนื้อแน่นต่างจากที่พบ ในพื้นที่ที่เกิดหลุมยุบทางภาคใต้ ซึ่งเป็นหินปูนแบบแทรกสลับ และมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่แตกต่างจากกลุ่มหินสระบุรีซึ่งรองรับด้วยหินหลายประเภท
พื้นที่ที่เกิดหลุมยุบในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ในบริเวณที่รองรับด้วยชั้นหินปูนในกลุ่มหินทุ่งสง อายุออร์โดวิเชียน ซึ่งเป็นหินปูนเนื้อดิน กระจายตัวในพื้นที่ จ.สตูล จ.ตรัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนพื้นที่รอบเขาใหญ่เป็นหินปูนในกลุ่มหินสระบุรี อายุเพอร์เมียน มีเนื้อแน่น ชั้นหนาปานกลางถึงหนามาก และมีชั้นหินเชิร์ต หินทรายและหินดินดานแทรกสลับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีหน่วยหินอัคนีซึ่งเป็นหินเนื้อแน่นรองรับอยู่ด้านล่าง ดังนั้น โครงสร้างต่างๆ จึงยังมีความแข็งแรงกว่ากลุ่มหินปูนในภาคใต้
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนวางใจ และไม่ต้องกังวลหรือ ตื่นตระหนกเกี่ยวกับกรณีของน้ำบาดาลที่จะมีผลกระทบต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีมาตรการเฝ้าระวังและติดตามทรัพยากรน้ำบาดาลในทุกพื้นที่ของประเทศเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพน้ำบาดาล ปริมาณน้ำบาดาล และศักยภาพแหล่ง น้ำบาดาลที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งศึกษาผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลที่อาจเกิดการปนเปื้อนจากสารเคมีของเสียอันตรายต่างๆ ด้วย