กรมควบคุมโรคตรวจเข้ม ผู้เดินทางผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

อังคาร ๑๙ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๕๔
กรมควบคุมโรคเดินหน้าตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ตรวจเข้มผู้เดินทางผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าไทยมีกระบวนการ วิธีการ ระบบงาน และบุคลากรที่มีความสามารถในด้านการเฝ้าระวัง ตรวจจับและตอบสนองต่อภัยสุขภาพทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินข้ามชาติ

พญ.วราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวชายแดนที่ด่านท่าเรือหายโศกและสถานีรถไฟ อ.เมือง จ.หนองคาย ว่ากรมควบคุมโรคมีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางผ่านด่านควบคุมโรคติดเชื้อระหว่างประเทศ ทั้งด่านทางอากาศ ด่านทางเรือและด่านทางบกทั้งรถยนต์ รถไฟ ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะขณะนี้ที่ประชาชนให้ความสนใจคือเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในเรื่องนี้กรมควบคุมโรคได้มีการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR)ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้แต่ละประเทศต้องจัดให้มีหน่วยงานและผู้แทน (National IHR Focal Point)ในการประสานงานองค์การอนามัยโลกและดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยการ 1.การแจ้งให้องค์การอนามัยโลกทราบภายใน 24 ชั่วโมง ได้แก่ โรคฝีดาษ โปลิโอ โรคซาร์ค ไข้หวัดใหญ่ (ในคน)ที่เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งเหตุการณ์ที่พิจารณาว่า เป็นภัยสุขภาพฉุกเฉินข้ามชาติ และ 2.แต่ละประเทศต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพการเฝ้าระวังและสอบสวนควบ คุมโรค ทั้งในด้านการเฝ้าระวังปกติ ตามช่องทางขาเข้า ออกประเทศ และในการตรวจจับและตอบสนองต่อภัยสุขภาพฉุกเฉินข้ามชาติภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากกฎอนามัยระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางผ่านด่านมั่นใจว่าประเทศไทยมีกระบวนการ วิธีการ ระบบงาน และบุคลากรที่สามารถดำเนินการคัดกรองโรคและสัตว์ที่เป็นพาหะ รวมถึงสิ่งของต่างๆที่อาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้การดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ รวมทั้งการคัดกรองผู้เดินทางทั้งทางบกและทางเรือจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่จะมีผลดีทำให้เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นผลดีต่อประชาชนโดยรวม โดยจะไม่กระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศและการค้าแต่อย่างใด โดยขณะนี้ได้ขยายการดำเนินงานครอบคลุมทุกด่านทั่วประเทศแล้ว สามารถเฝ้าระวังโรคระบาดที่ต้องรายงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ คือโรคไข้เหลือง อหิวาตกโรค กาฬโรค รวมไปถึงโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ได้แก่ โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อนิปาห์ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก รวมทั้งโรคเมอร์ส-โควี และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่พบการระบาดในหลายประเทศ ในขณะที่ผลการตรวจคัดกรองทั้ง 3 ด่าน ได้แก่ ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ท่าเรือหายโศกและด่านรถไฟสถานีหนองคาย ยังไม่พบผู้ป่วยที่เข้าข่ายโรคติดเชื้อรุนแรง รวมทั้งโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแม้แต่รายเดียว

“นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังได้จัดบอร์ดให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคเมอร์ส-โควี ทั้งภาษาไทยและลาว เพื่อให้ความรู้ประชาชนเบื้องต้น รวมทั้งแจกเอกสารคำแนะนำสุขภาพสำหรับผู้เดินทางข้ามพรมแดน ซึ่งขณะนี้จัดทำแล้ว 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาลาว และจัดทำเพิ่มเติมภาษาอื่นๆให้ครบ 5 ภาษา คือ กัมพูชาและพม่า เพื่อใช้สื่อสารกับประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตัวให้เหมาะสม” พญ.วราภรณ์ กล่าวปิดท้าย

ด้าน นพ.วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จ.หนองคายกับนครหลวงเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมดำเนินการป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนร่วมกันมาโดยตลอด สำหรับปีนี้มีการประชุมแล้ว 3 ครั้ง เพื่อการประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งมีข้อตกลงในการส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน เมื่อมีความเสี่ยงหรือมีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยโรคติดเชื้อต่างๆและต้องมีการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นข้อตกลงที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ ปัจจุบันการส่งต่อข้อมูลในแวดวงสาธารณสุขมีความรวดเร็วขึ้นมาก เนื่องจากนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่อสาร อย่างการรับ-ส่งข้อมูลผ่านทางไลน์ เฟสบุ๊คและอีเมล์ ที่สามารถเป็นช่องทางในการส่งผ่านข้อมูลเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับพื้นที่ จ.หนองคาย มีด่านที่ประชาชนใช้ในการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศหลักๆอยู่ 2 จุด คือด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวและด่านรถไฟ จากการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด

นพ.พิสิฐ อินทรวงศ์โชติ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริการ โรงพยาบาลหนองคาย กล่าวว่าทางโรงพยาบาลมีการเตรียมการรับผู้ป่วยต้องสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทั้งจากการประสานจากด่านชายแดนหรือจากโรงพยาบาลอำเภอว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัย และจากผู้ป่วยที่เดินทางมาด้วยตนเอง กรณีที่ตรวจพบผู้ป่วยต้องสงสัยจะป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัย มีการกันพื้นที่พิเศษสำหรับผู้ป่วยเพื่อไม่ให้ปะปนกับผู้ป่วยปกติ และจะมีการจัดจุดตรวจผู้ป่วยไว้ต่างหาก หากแพทย์สงสัยและวินิจฉัยว่าผู้ป่วยคนนั้นป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและโรคทางเดินหายใจอื่นๆ จะนำตัวผู้ป่วยไปที่ตึกผู้ป่วยติดเชื้อเฉพาะซึ่งมีประมาณ 10 ห้อง โดยจะมีซีซีทีวีเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างแพทย์ให้สามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้ป่วยได้ และมีชุดป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ การให้ความรู้แพทย์ โดยการผ่านช่องแชทในการใส่ข้อมูลสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อให้แพทย์ได้รับรู้ข้อมูลพร้อมกันกับบุคลากรในโรงพยาบาลด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ เม.ย. OR จับมือภาครัฐและผู้ประกอบการชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP ผ่านโครงการ 'ไทยเด็ด' มุ่งเสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชนไทยอย่างยั่งยืน
๐๔ เม.ย. เทลสกอร์ จับมือพันธมิตร ขับเคลื่อนโครงการ 'Help You, Help Me' สู่ปีที่ 6 ผสานพลังคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม
๐๔ เม.ย. เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว สนับสนุนภารกิจกู้ภัย มอบอาหารและเครื่องดื่มให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์
๐๔ เม.ย. ร้อนๆแบบนี้ มาหมุนให้ฉ่ำ!!สนุกสุดมันส์ไปกับเครื่องเล่น Water Roller ลูกบอลน้ำมหาสนุก
๐๔ เม.ย. ซัมเมอร์นี้ชวนเช็กอินสมุย แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชาวเวลเนส ที่ BDMS Wellness Clinic สาขา Celes Samui
๐๔ เม.ย. โซเชียลจับตา ตึกถล่ม-อาฟเตอร์ช็อก ประเด็นร้อนหลังแผ่นดินไหว
๐๔ เม.ย. กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
๐๔ เม.ย. GoWabi แพลตฟอร์มจองบริการบิวตี้ครบวงจรอันดับ 1 ในไทยเปิดตัวบริการ GoWabi POS พร้อมประกาศรางวัล GoWabi Top Rated
๐๔ เม.ย. ทีทีบี เชิญชวนเที่ยว พิพิธภัณฑ์ครุฑ สืบสานพลังศรัทธา สรงน้ำ สมเด็จมหาราชทรงครุฑ เสริมพลังบุญรับปีใหม่ไทย
๐๔ เม.ย. บัตรเครดิต ทีทีบี มอบโปรฯ ฟรีอัปเกรด! HUT บุฟเฟต์ อิ่มไม่อั้น จ่ายเพียง 399 บาท