“วันนี้ เราจะมาทำการทดลองการแยกน้ำด้วยเคมีไฟฟ้า และข้างในกล่องที่นักเรียนได้ไปนั้น คือชุดอุปกรณ์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน นักเรียนทุกคนจะได้มีโอกาสทดลองและสรุปผลด้วยตัวของนักเรียนเอง” คุณครูโกศลเปิดการสอน
ภายในห้อง นักเรียนทุกกลุ่มต่างขมักเขมันกับการทดลอง โดยมีครูโกศลคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด วันนี้ โรงเรียน 21 แห่งในระยองได้รับโอกาสเป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการ”ห้องเรียนเคมีดาว” ในการนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโก (UNESCO) และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ มาใช้การจัดการเรียนการสอนจริงในห้องเรียน หลังจากที่คุณครูได้รับการฝึกอบรมเทคนิคดังกล่าวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา
จากข้อจำกัดของการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทยพบว่าส่วนใหญ่เน้นการเรียนแบบท่องจำ นักเรียนใช้จินตนาการเพื่อทำความเข้าใจตามทฤษฎีในตำรา และขาดโอกาสการเรียนรู้จากการทดลองจริง ทำให้เยาวชนไทยขาดแรงจูงใจและความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ โครงการ” ห้องเรียนเคมีดาว” จึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจของกลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย ในฐานะบริษัทวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทย และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ที่ต้องการให้นักเรียนได้ปฏิบัติการทดลองเคมีจริง ปลูกฝังความคิด การวิเคราะห์ การสังเกตและการแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยเข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
การดำเนินโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เป็นการพัฒนาวิธีสอนของครูไปสู่วิธีการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยให้การอบรมครูวิทยาศาสตร์ ซึ่งเน้นเนื้อหาหลักในการแนะนำเทคนิคการสอนทดลองเคมีอย่างปลอดภัย รวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดความรู้ในการเรียนการสอนและการใช้อุปกรณ์การทดลองแบบย่อส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มทักษะการบูรณาการกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสื่อการสอนที่ออกแบบเฉพาะให้เหมาะกับการเรียนวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งการอบรมดังกล่าวได้รับการตอบรับจากครูวิทย์ในจังหวัดระยองเป็นอย่างดี
เพื่อให้เห็นผลสัมฤทธิ์จากการอบรม โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จึงจัดกิจกรรมติดตามและประเมินผลการเรียนการสอนปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนของครูวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวนทั้งหมด 61 คน ใน 21 โรงเรียน โดยการเยี่ยมชมขณะทำการสอนในห้องเรียน เพื่อให้คำแนะนำและเพิ่มเทคนิคการสอนปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน พร้อมสังเกตการตอบสนองของนักเรียน การติดตามและประเมินผลนี้จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการเรียนการสอนในเบื้องต้น ว่าครูผู้สอนได้มีการนำความรู้และเทคนิคจากการเข้าอบรมมาประยุกต์ใช้ หรือพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาของแต่ละระดับชั้นหรือไม่ รวมถึงกระตุ้นครูผู้สอนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของเยาวชนซึ่งถือเป็นอนาคตของวงการวิทยาศาสตร์ไทย
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ถือเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมของดาว เคมิคอล โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของไทยมีศักยภาพ ความเข้มแข็ง ที่นำไปสู่ความยั่งยืน และจากที่มีการติดตามผล ทำให้เห็นว่าครูได้รับความรู้และทักษะต่างๆ เพื่อใช้ในการสอนนักเรียน ขณะที่นักเรียนก็สามารถเรียนรู้ ต่อยอดกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างสรรค์การทดลองใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีมากขึ้น ทางทีมงาน“ห้องเรียนเคมีดาว” มีแนวคิดในพัฒนาหลักสูตรการอบรมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง เพื่อขยายผลไปสู่การสร้างเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ ให้สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคนิคการเรียนการสอนร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้เกิดการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เฉพาะแค่ดาว เคมิคอล หรือ สมาคมเคมีฯ เท่านั้น โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยกันสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการให้สามารถดำเนินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในฐานะตัวกลางการถ่ายทอดความรู้ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการทดลองที่น่าตื่นเต้นให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจและจับต้องได้”
รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกกิตติคุณ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ นักเคมีที่มีผลงานโดดเด่นในระดับนานาชาติ ได้ร่วมติดตามและให้คำแนะนำการเรียนการสอนการทดลองเคมี บอกถึงแนวความคิดในการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยอุปกรณ์การทดลอง เคมีแบบย่อว่า “การนำเอาปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ในโรงเรียน อาจยังใหม่สำหรับครูผู้สอนและนักเรียนในประเทศไทย แต่เชื่อว่าครูและนักเรียนจะได้รับประโยชน์และความสนุกสนานกับการเรียนวิทยาศาสตร์โดยใช้อุปกรณ์และเทคนิคดังกล่าว อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของการเกิดอันตรายด้วยหลักการการใช้สารเคมีปริมาณน้อยในการทดลอง หรือเท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งเรื่องการลดโอกาสการเกิดอันตรายและลดปริมาณของเสียจากการทดลอง จึงเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญการทดลองเคมีแบบย่อสามารถทำการทดลองได้ง่ายสะดวกและรวดเร็ว จึงลดภาระผู้สอนในการจัดเตรียมอุปกรณ์และประหยัดเวลา เพื่อให้นักเรียนสามารถทำการทดลองได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สอนและผู้เรียน รวมถึงเป็นเครื่องมือช่วยในการสร้างความเข้าใจเนื้อหาวิชาได้มากขึ้น”
หลังคาบวิทยาศาสตร์จบลง คุณครู โกศล มั่นจิต กล่าวว่า “หลังจากที่ได้นำการทดลองเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ในการเรียนการสอนได้ระยะหนึ่งแล้วพบว่านักเรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น สามารถจดจำและเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นจากการทำการทดลองด้วยตนเอง โดยการเรียนการสอนเริ่มจากการแนะนำให้เด็กรู้จักอุปกรณ์การทดลอง ควบคู่กับการอธิบายขั้นตอน และฝึกให้ทำการทดลองโดยศึกษาการจากคู่มือ เพื่อให้นักเรียนรู้จักการสังเกต คิดวิเคราะห์ และจดบันทึกผลการทดลองด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็พยายามชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ตัวครูเองต้องติดตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก คอยให้คำชี้แนะ แต่ไม่ใช่ชี้นำ เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เพื่อการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีหน้า”
ธนากร เกษียร นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้การเรียนวิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนจะใช้วิดีโอเป็นสื่อการเรียนการสอน มีการอธิบายตามเนื้อหาทฤษฏี ซึ่งบางครั้งเกิดความไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่มีการทดลองจริงให้เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อมีอุปกรณ์การทดลองเคมีแบบย่อส่วนเข้ามาช่วยเสริมการเรียนการทดลองในวิชาเรียน ผมรู้สึกตื่นเต้น มีความสนุกสนานกับการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น และสนุกกับการทดลอง รวมถึงยังทำให้ผมรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก และไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด”
ด้าน ทิพากร มาติน สมาชิกในกลุ่ม กล่าวเสริมว่า “อุปกรณ์การทดลองเคมีแบบย่อส่วน ช่วยทำให้เข้าใจทฤษฎีได้ง่ายมากขึ้น เพราะสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากการทดลองได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่เริ่มทำการทดลองจนเสร็จสิ้นการทดลอง ทำให้เกิดสมาธิและแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำการทดลองในบทเรียนอื่นๆ ต่อไป”
ขณะที่สมาชิกกลุ่มคนสุดท้าย จันทร์ทิมา โตเพ็ชร เผยว่า “รู้สึกดีใจและขอขอบคุณ กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย ที่เห็นความสำคัญและสนับสนุนอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ นอกจากจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับการเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน แล้วยังรู้สึกถึงความปลอดภัยในระหว่างทำการทดลองอีกด้วย”
การทดลองแยกน้ำด้วยเคมีไฟฟ้าข้องน้อง ๆ จบลง แต่ในห้องยังไม่เงียบสงบลง เพราะนักเรียนต่างคุยขึ้นการทดลองที่เกิดขึ้น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้พบเจอระหว่างการทดลอง ซักถามอาจารย์ถึงสิ่งที่ยังค้างคาในใจในเรื่องการทดลอง นี่แหละคือห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอย่างแท้จริง