ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านวัคซีนของไทย หลังได้รับงบเพิ่มจากเดิมอีก 10 เท่า

พุธ ๒๐ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๐:๓๐
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯเผย!! แนวทางการขับเคลื่อนงานด้านวัคซีนของไทยเพื่อการมีวัคซีนไว้ใช้ได้เองภายในประเทศและเพื่อการส่งออกในอนาคต หลังรัฐฯ อนุมัติงบสนับสนุนมากกว่าเดิม 10 เท่า

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “สวช.” กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการผลิตวัคซีนภายในประเทศอย่างชัดเจน โดยมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ(กวช.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ต่อมาในปี พ.ศ.2548 รัฐบาลมีการประกาศนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนในประเทศตั้งแต่ระดับต้นน้ำ เพื่อการพึ่งตนเองและความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศในระยะยาว มีการประกาศให้การพัฒนาและการผลิตวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนได้มีการจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขึ้นในปี 2555 เพื่อเป็นหน่วยงานกลางด้านวัคซีนทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวัคซีนของประเทศ

ดร.นพ.จรุง กล่าวและอธิบายว่าถึงแม้รัฐบาลทุกสมัยได้มีนโยบายและให้การสนับสนุนที่ชัดเจนในเรื่องวัคซีน เพราะเห็นความสำคัญของวัคซีนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและป้องกันโรค ทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ปัญหาสำคัญของการพัฒนาวัคซีนอยู่ที่การผลิตวัคซีนนั้นได้ผลกำไรน้อย เมื่อเทียบกับการใช้เงินทุนในการพัฒนาที่สูง ผู้ผลิตวัคซีนส่วนใหญ่จึงเลือกจะผลิตวัคซีนให้กับประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดภาวะฉุกเฉินด้านวัคซีนเมื่อเกิดโรคระบาด ส่วนการใช้วัคซีนในภาวะปกติประเทศไทยถึงแม้ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ถูกจัดว่ามีรายได้ระดับกลาง จึงไม่ค่อยได้รับการช่วยเหลือหากเกิดปัญหาการขาดแคลนวัคซีน หน่วยงานนานาชาติในปัจจุบันจะเน้นช่วยเหลือประเทศที่ยากจนเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งตลาดวัคซีนก็ไม่ใช่ตลาดของผู้ซื้อแต่จะเป็นตลาดของผู้ขายเพราะผู้ผลิตวัคซีนขายมีจำนวนไม่มากให้เลือกซื้อ ดังนั้นการที่จะซื้อหรือนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศอาจทำให้ไทยไม่มีความมั่นคงด้านวัคซีน

เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติสนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนไว้ใช้ได้เองภายในประเทศ เนื่องจากไทยมีศักยภาพและมีหน่วยงานที่ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และประสบความสำเร็จมากในการวิจัยพัฒนาในห้องปฏิบัติการ การทดสอบวัคซีนระยะพรีคลินิกและการทดสอบทางคลินิก โดยมีการกำหนดให้ภายในระยะเวลา 10 ปี ประเทศไทยต้องสามารถผลิตวัคซีนจำเป็นบางชนิดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการไว้ใช้ในประเทศ

ดร.นพ.จรุง ยังบอกอีกว่าปี 2557นี้นับเป็นปีที่ 2 ตั้งแต่การประกาศตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน) และเป็นปีแรกที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลมากขึ้นกว่าเดิมเป็น 10 เท่าตัว ทางสถาบันฯจึงร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั่วประเทศและต่างประเทศ วางแผนร่วมกันว่าในระยะ 10 ปีจะต้องดำเนินการในเรื่องไหนบ้าง ทั้งการพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการวิจัยการพัฒนาวัคซีนและที่สำคัญคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยต้องมีหน่วยงานกลางต้องมีเจ้าภาพดำเนินการในเรื่องการประสานงาน การขับเคลื่อน การสนับสนุน การดูในเรื่องเทคนิคต่างๆ ต้องมีการติดตามงานอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ จนถึงการใช้วัคซีนด้วย

ในวาระ 10 ปีนี้การดำเนินงานของสถาบันฯ มีกิจกรรมและโครงการด้านวัคซีนที่สำคัญ 10 เรื่อง เบื้องต้นจะเป็นการวิจัยพัฒนา หรือการผลิตวัคซีน 5 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี,วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนและตับอักเสบบี, วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่,วัคซีนไข้เลือดออก และวัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ ซึ่งการผลิตวัคซีนเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นประเทศไทยต้องได้รับการสนับสนุนจนสามารถผลิตได้เองตั้งแต่ต้นจนได้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีนโยบายและแผนงานที่ชัดเจนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำนโยบายและแผนไปปฏิบัติและดำเนินการอย่างไร หน่วยงานราชการหรือโรงพยาบาลต่างๆต้องให้การสนับสนุนการใช้วัคซีนที่เราผลิตได้ในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะวัคซีนแต่ละชนิดต้องลงทุนสูงและต้องใช้เวลานานในการพัฒนา ในระยะแรกหากไม่สนับสนุนการใช้วัคซีนที่ผลิตได้ภายในประเทศ ผู้ผลิตจะไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ซึ่งนโยบายเช่นนี้ไม่แปลกแต่อย่างใด มีการดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลก

ดร.นพ.จรุงกล่าวต่อไปว่าสำหรับปี 2558 ที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนในช่วงเดือนตุลาคม2557 ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งการประชุมครั้งนี้สถาบันฯ เป็นเจ้าภาพ เป็นการประชุมเรื่องนี้เป็นครั้งแรกของ 10 ประเทศ ในอาเซียน ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานนานาชาติที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นโอกาสที่ทางสถาบันวัคซีนฯ จะได้นำเสนอเรื่องวัคซีนเพื่อทำความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียน ทั้งเรื่องความคิดและแนวทางใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนด้านการวิจัย การผลิต การควบคุมคุณภาพ การใช้วัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เป็นการพัฒนาศักยภาพร่วมกัน ลดการแข่งขันกันเอง เป็นโอกาสของการเพิ่มความเข้มแข็งของผู้ผลิต เพราะตลาดขยายใหญ่ขึ้น มีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน โดยคาดหวังว่านโยบายและแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสถาบันวัคซีนจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารของประเทศไทยอย่างแท้จริง ผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนไว้ใช้เองและสามารถส่งออกไปต่างประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน เน้นผู้ผลิตวัคซีนภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อพัฒนาศักยภาพและมีการขยายเครือข่ายผู้ผลิตให้ได้

“มีหลายๆ เรื่องที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานด้านวัคซีนของประเทศ ทั้งเรื่องทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องมีการทำงานที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายในระดับปฏิบัติ อย่างการทำวิจัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุน ในการผลิตวัคซีนผู้มีอำนาจต้องมีนโยบายสนับสนุนการใช้วัคซีนที่ผลิตได้เองภายในประเทศอย่างจริงจัง เข้มแข็ง ไม่ไขว้เขว ยืนอยู่บนหลักวิน-วิน เพื่อการประสานผลประโยชน์ จนผลักดันนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ในระยะแรกผู้ผลิตในประเทศต้องขายวัคซีนตลาดในประเทศให้ได้ทุกปี ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ หากทำไม่ได้อย่าหวังว่าวัคซีนไทยจะไปรอด ซึ่งในส่วนนี้ไม่อยากให้มองว่าเป็นการผูกขาดแต่อยากให้มองว่าในแต่ละครั้งที่มีการซื้อวัคซีนที่เราผลิตได้จะสร้างกำไรให้ประเทศและสร้างศักยภาพด้านวัคซีนได้อย่างไรบ้าง ประเทศอื่นที่มีความก้าวหน้าเรื่องการผลิตวัคซีน ให้การสนับสนุนการใช้วัคซีนภายในประเทศกันทั้งนั้น เพราะเป็นการพึ่งตนเองและเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างหนึ่ง” ดร.นพ.จรุงกล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ TOPPAN EDGE (THAILAND) จัดใหญ่!! ฉลองครบรอบ 40 ปี มุ่งพัฒนาองค์กรควบคู่สังคมอย่างยั่งยืน
๑๖:๐๙ PLANET พร้อมร่วมโชว์ศักยภาพ ในงาน DronTech Asia 2024
๑๖:๔๗ ยูโอบี ฟินแล็บ เปิด 6 โครงการนำร่องกรีนเทคของไทย
๑๖:๑๒ แอ็กซอลตา แสดงความยินดี ตัวแทนจากศูนย์บริการ โตโยต้า โคราช 1988 คว้ารางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2
๑๖:๒๐ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ ประจำปี 2567 (ASAIHL International Conference 2024)
๑๖:๕๒ กทม. แจงเปิดกว้างเอกชนร่วมประมูลโครงการติดตั้งศูนย์ควบคุม-บริหารจัดการระบบเทคโนโลยีจราจรฯ
๑๖:๓๗ กทม. บูรณาการความร่วมมือแก้ปัญหาขอทานต่างด้าวประสาน สน.- สตม. ผลักดันกลับประเทศต้นทาง
๑๖:๑๓ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดกิจกรรมเปิดบ้านที่โคตรจะจริงใจ UTCC Open House 2024
๑๖:๑๔ แอมเวย์ สร้างความสุข ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี ส่งท้ายปีกับ ภารกิจ Amway Health Run 2024 พร้อมสมทบทุน 1.2 ล้านบาท มอบ 6
๑๖:๔๓ ชวนดูคอนเสิร์ต Thai PBS THE GREATEST SONG OF FAME เชื่อมสามวัยผ่านบทเพลงแห่งความทรงจำ พร้อมแบ่งปันเพื่อสังคม