พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงพยาบาลมีทหารที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง อาจจะบาดเจ็บระดับหน้าอกลงไป ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ขาทั้งสองข้างไม่สามารถขยับได้ แต่ยังใช้มือและแขนได้ดี จึงทำวิจัยร่วมกับทีม เพื่อที่จะผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบที่จะใช้กับผู้ป่วยพิการจากราชการสนาม ที่มีปัญหาดังกล่าวดังนี้ โดยใช้ชื่อว่า “PMK EXOSKELETON ROBOT”
พ.ต. นพ. ธง พงษ์หาญยุทธ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการเดินของคนปกตินั้น จะอาศัยการทำงานที่ประสานกัน ทั้งข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก และกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ซึ่งได้แก่กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง กล้ามเนื้อที่ใช้ในการงอ-แอ่น-กาง ข้อสะโพก และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดเข่า ตลอดจนการทำงานของระบบประสาท ตั้งแต่สมองไปจนถึงเซลล์ประสาทรับสัมผัส เพื่อให้การเดินนั้นมีความต่อเนื่อง ราบรื่น และมั่นคง แต่สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง บริเวณไขสันหลังระดับเอวลงไปจะเกิดอาการอัมพาตของขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งหมายความว่า สมองไม่สามารถสั่งการข้อและกล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้เกิดการเดินได้อย่างปกติ
“หุ่นยนต์เสริมพลังนี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกเป็นโครงสร้าง (Hardware) จะประกอบไปด้วยโครงสร้างอลูมิเนียมที่มีลักษณะคล้ายกับขามนุษย์ทั้งสองข้าง โดยจะเริ่มตั้งแต่เอวหรือสะโพก ขาด้านบน ขาด้านล่าง และเท้า (ขนาดความยาวของขาแต่ละข้างจะขึ้นอยู่กับความสูงต่ำของผู้ป่วย) สะโพกด้านซ้ายและด้านขวาจะยึดติดกับ ดีซีมอเตอร์ (DC Motor) ขนาด 350 วัตต์ 24 โวลต์ แกนมอเตอร์ด้านหน้ายึดติดกับเกียร์บล็อก (Gear Box) ขนาดอัตราทด 1:50 แกนมอเตอร์ด้านหลังยึดติดกับเอ็นโครเดอร์ (Encoder) ขนาด 1000 รอบ ส่วนหัวเข่าทั้งด้านซ้ายและขวาจะยึดติดกับดีซีมอเตอร์ ขนาด 250 วัตต์ 24 โวลต์ แกนมอเตอร์ด้านหน้ายึดติดกับเกียร์บล็อก ขนาดอัตราทด 1:50 แกนมอเตอร์ด้านหลังยึดติดกับเอ็นโครเดอร์ (Encoder) ขนาด 1000 รอบ เช่นกัน ส่วนที่สองเป็นส่วนควบคุม (Control) โดยใช้ไมโครคอนโทรเลอร์ เป็นตัวควบคุมแบบ PID Control ทั้งการควบคุมแบบตำแหน่ง (Position Control) และควบคุมความเร็ว (Speed Control) และส่วนที่สาม คือ ซอฟต์แวร์ (Software) จะใช้ภาษาซีในการเขียนควบคุมการทำงานทั้งระบบ มีหลักการทำงานคือ เมื่อผู้ป่วยต้องการเคลื่อนที่ผู้ป่วยจะเลื่อนตัวต้านทานปรับค่าได้ (Variable Resistor) ด้วยมือขวาจนถึงค่าสูงสุด ทำให้ขาข้างขวาเคลื่อนที่ตามจังหวะการเดิน (Gait Cycle) และเลื่อนตัวต้านทานปรับค่าได้จนถึงค่าต่ำสุดทำให้ดีซีมอเตอร์ที่สะโพกเคลื่อนที่ทำให้ยืดตรง ส่วนการเคลื่อนที่ขาด้านซ้ายก็จะทำตามลำดับเหมือนด้านขวา ทำให้ผู้ป่วยพิการสามารถเดินได้ใกล้เคียงหรือเหมือนปกติได้” ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม กล่าว
“ในอนาคตจะพัฒนาหุ่นยนต์เสริมพลังต้นแบบนี้ ให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ราบรื่น และใกล้เคียงกับการทำงานของร่างกายจริงต่อไป รวมถึงนำไปพัฒนาเพื่อใช้กับผู้ป่วยอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือเด็กพิการ และผู้ป่วยพิการจากราชการสนามที่ขาขาดทั้ง 2 ข้างระดับสูง ๆ ต่อไป” ทีมวิจัย กล่าว