นายสุดใจยกตัวอย่างว่า การกีดกันที่สะเทือนใจตนเองมากคือกรณีของเด็กหญิงอายุ 3 ขวบ ที่ไม่ได้เข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในภาคอีสาน สาเหตุเพราะเป็นลูกผู้ติดเชื้อเอชไอวี “คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ถ้าพ่อแม่ติดเชื้อฯ ยังไงลูกก็ต้องติดเชื้อฯ ทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะหากพ่อแม่ได้รับยาต้านไวรัส ลูกที่เกิดมามีโอกาสติดเชื้อแค่ 1% เท่านั้น หรือเรียกว่าแทบไม่มีโอกาสติดเชื้อเลย ดังนั้น การกีดกันแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะลองคิดดูว่าเด็กคนนี้จะเติบโตด้วยความเจ็บปวดแค่ไหน หากต้องถูกกีดกันตีตรา ทั้งที่เด็กไม่ได้ทำอะไรผิดแบบนี้”
“กลุ่มผู้ติดเชื้อไม่ต้องการความสงสาร แต่ขอเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน หรือผู้ติดเชื้อฯ ก็ต้องได้รับเหมือนกัน เพราะผู้ติดเชื้อฯ ก็เป็นคน มีความฝัน ความหวัง ความกลัว และความเสียใจ เหมือนคนทั่วไป” นายสุดใจ กล่าว
ทั้งนี้แคมเปญดังกล่าวมีผู้ร่วมลงชื่อกว่าหมื่นคนภายในเวลาสัปดาห์เดียว โดยผู้ลงชื่อได้เขียนแสดงความเห็นในเรื่องนี้จำนวนมาก อาทิ เช่น นายณัฐพงศ์ เหมือนรุ่ง กาญจนบุรี ให้ความเห็นว่า “ความจริงแล้วเชื้อเอชไอวีไม่ได้ติดโดยการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน การคิดแบบนี้ถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม สร้างการตีตราให้คนที่เป็นมนุษย์ด้วยกันรังเกียจกันเอง เป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายที่สุด ดังนั้น ผู้บริหารควรออกมาชี้แจงให้กับสังคมรับรู้ข้อเท็จจริงในเจตนาของคุณให้เร็วที่สุด”
ขณะที่ เบญจวรรณ หนูคง จากสงขลา ระบุว่า “เรื่องเอดส์เป็นเรื่องใหญ่ที่เกือบทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 3 ลด เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Getting To Zero เอดส์เป็น 0 ประกอบด้วย 1.ลดอัตราการติดเชื้อ 2.ลดอัตราการตาย 3.ลดการตีตรา ซึ่งสิ่งที่ผู้บริหารโรงแรมทาวอินทาวน์กำลังทำอยู่ขณะนี้เป็นการตีตราต่อผู้ติดเชื้อซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะทุกคนได้ชื่อว่าเป็นคนเหมือนกันและผู้ติดเชื้อก็ไม่ใช่บุคคลอันตรายที่คุณจะมาแสดงท่าทีรังเกียจ”
ทั้งนี้ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้ยื่นเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว โดยทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องนี้ไว้ตรวจสอบแล้ว ขณะที่ทางโรงแรงทาวน์อินทาวน์ยังไม่มีการชี้แจงเรื่องนี้ ซึ่งทางเครือข่ายฯจะประชุมและหามาตรการกดดันขั้นต่อไปเพื่อให้โรงแรมออกมาขอโทษและเลิกกีดกันผู้ติดเชื้อต่อไป