โรคเอแอลเอส สู่ปรากฏการณ์กล้า ท้า ราดน้ำแข็ง Ice Bucket Challenge

พฤหัส ๒๑ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๓:๔๘
โรคเอแอลเอส สู่ปรากฏการณ์กล้า ท้า ราดน้ำแข็ง Ice Bucket Challenge

นพ. ชาคร จันทร์สกุล

อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท

ศูนย์สมอง โรงพยาบาลกรุงเทพ

กลายเป็นกระแสฮิตติดลมบนของคนไทยและคนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ สำหรับปฏิบัติการ Ice Bucket Challenge หรือการท้าให้สาดน้ำแข็งบนศีรษะหรือลำตัว เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจอาการกล้ามเนื้อที่ช็อกเกร็งกะทันหันเหมือนควบคุมไม่ได้ หายใจติดขัด ซึ่งเป็นอาการคล้ายๆ กับอาการเบื้องต้นของผู้ที่เป็น “ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง” Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือโรคเอแอลเอส (ALS) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ (Motor neuron) ทำให้กล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายฝ่อลีบลง ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสนุกๆ ไร้สาระแต่กำลังแฝงเตือนให้พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดนี้ต่างหาก

นพ. ชาคร จันทร์สกุล อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมอง โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ว่าอาการในช่วงแรกๆ ของโรคเอแอลเอสมักจะยังไม่ชัดเจน เช่น ผู้ป่วยอาจจะบ่นว่าหยิบจับของไม่ถนัด ลุกนั่งลำบาก หรือไม่ค่อยมีแรง เมื่อเวลาผ่านไป อาการของผู้ป่วยจะมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีอาการกล้ามเนื้อลีบหรือกล้ามเนื้อเต้นตามบริเวณต่างๆ จนในที่สุด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินได้เอง ต้องนั่งรถเข็น กลืนอาหารลำบาก สำลักง่าย ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทำให้ต้องได้รับสารอาหารทางสายยาง และอาจจะหายใจเองไม่ได้ ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยโรคเอแอลเอสมักเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลว หรือติดเชื้อในระบบต่างๆ โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจจากการสำลักน้ำและอาหาร โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงเสียชีวิตใช้ประมาณ 2 ปี ถึง 5 ปี ตลอดระยะเวลาที่เป็นโรค ผู้ป่วยมักไม่มีความผิดปกติของสติสัมปชัญญะ ไม่มีอาการชา สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระได้เป็นปกติ ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคเอแอลเอส จากสถิติพบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้ไม่มากนัก ประมาณ 4-6 คนต่อประชากร 100,000 คน ที่น่าสนใจคือโรคนี้มักจะพบในนักกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น นักมวย นักฟุตบอล นักกีฬาเบสบอล เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ คือมีคนในครอบครัวเป็นโรคเอแอลเอส เนื่องจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจเป็นอาการของโรคอื่นๆ ได้ด้วย การวินิจฉัยโรคเอแอลเอสจึงควรทำโดยแพทย์อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยา โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อแยกกับโรคต่างๆ และทำการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (electromyography หรือ EMG) นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องได้รับการถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสมองและไขสันหลัง (MRI brain and spinal cord)

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเอแอลเอสให้หายขาด มีเพียงยาชนิดหนึ่งที่ชื่อ ไรลูโซล (riluzole) ซึ่งช่วยยืดอายุของผู้ป่วยออกไปได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น แนวทางการรักษาของแพทย์จึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ชะลอการฝ่อลีบให้ช้าลง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version