โรงเรียนพยาบาลรามาฯปรับทัพ 360 องศา พัฒนาหลักสูตรต้นแบบ รับมือภัยคุกคามใหม่ด้านสุขภาพเตือนไทยเสี่ยงต้องเร่งผลิตพยาบาลเชี่ยวชาญทางคลินิกและพยาบาลเชี่ยวชาญทางเวชปฏิบัติ

จันทร์ ๒๕ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๔:๑๖
โรงเรียนพยาบาลรามาฯ ปรับทัพ 360 องศา ยกเครื่องหลักสูตร ตรี โท เอก ด้านการพยาบาลรับมือภัยคุกคามใหม่ด้านสุขภาพ เตือนไทยเสี่ยงต้องเร่งพัฒนาพยาบาลเชี่ยวชาญทางคลินิกและพยาบาลเขี่ยวชาญทางเวชปฏิบัติซึ่งเป็นบทบาทขยาย เพื่อสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เปิดแผนอนาคตการศึกษาพยาบาลแห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมเข็นหลักสูตรใหม่ Residency Training ครั้งแรกในโลก หนุนเพิ่มกำลังผลิตพยาบาลเชี่ยวชาญทางคลินิกและพยาบาลเวชปฏิบัติ

ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำในระดับประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม โดยมีการปรับตัวอย่างเนื่องให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ล่าสุด โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เตรียมปรับทัพการจัดการเรียนการสอนใหม่ 360 องศา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยมุ่งพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะชุดใหม่ที่จะช่วยให้พยาบาลสามารถตัดสินใจ แก้ปัญหาที่เผชิญหน้า สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและจัดการเรื่องที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเตรียมผลิตพยาบาลให้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านสุขภาพ ซึ่งต้องเตรียมรับมือในอนาคต ที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุถึง Global Health ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพใหม่ ได้แก่ 1.โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ 2.โรคระบาดจากการติดเชื้อ 3.โรคที่เกิดจากพฤติกรรมหรือโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 4.โรคที่เกิดแล้วยังหาทางแก้ไขไม่ได้

“จากสถานการณ์โรคติดต่อที่รุนแรง โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ รวมไปถึงโรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคน ล้วนส่งผลให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจำเป็นต้องทบทวนวิธีการจัดการเรียนการสอนใหม่ อย่างกรณีการแพร่ระบาดของโรคอีโบลา ที่สร้างความตื่นตัวไปทั่วโลก ก็เป็นภาพสะท้อนอันหนึ่งถึงสัญญาณที่ทำให้แวดวงการพยาบาลจำเป็นต้องเร่งปรับตัว” ผศ.ดร.จริยา กล่าว

ปัจจุบันในแวดวงสุขภาพและการสาธารณสุขทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญในเรื่องการปรับตัวรับมือกับศตวรรษที่ 21 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคม การเคลื่อนย้ายคนโดยเสรี กำลังนำมาซึ่งความคาดการณ์ได้ยากยิ่งขึ้นในการเกิดโรคใหม่ๆ และโรคติดต่อ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น

การทำงานของแพทย์และพยาบาล ตลอดจนบุคลากรในแวดวงสาธารณสุขจึงต้องใช้วิธีการใหม่ๆและมีทักษะใหม่เพื่อรับมือกับความเร่งด่วนและความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในสังคมโลก จึงจำเป็นต้องการบุคลากรในแวดวงสาธารณสุข ที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21

ผศ.ดร.จริยา กล่าวว่า โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี จึงวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในการวางแผนพัฒนาพยาบาลในทุกระดับ ทั้งในระดับพยาบาลทั่วไปและพยาบาลเชี่ยวชาญทางคลินิกและพยาบาลเชี่ยวชาญทางเวชปฏิบัติ โดยมุ่งปรับหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน ตลอดจนการพัฒนาพยาบาลวิชาชีพขั้นสูงที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง โดยในระดับปริญญาตรี ได้วางแผนหลักสูตรใหม่ในการสร้างพยาบาลผู้นำการเปลี่ยนแปลง(Change Agent) เน้นการจัดการเรียนการสอนจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ การเตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติในสถานการณ์จริงด้วยสถานการณ์จำลองเสหมือนจริง การเรียนรู้แบบสหสาขา และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความรักอยากเรียน ซึ่งจะดำเนินงานในปี 2559 - 2560 พร้อมกับการเปิดแคมปัสใหม่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ บางพลี

สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จะมุ่งเน้นการผลิตพยาบาลที่เน้นการวิจัย ผ่านหลักสูตรในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ขณะเดียวกันยังขยายไปสู่การสร้างพยาบาลที่เน้นการปฏิบัติหรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางเวชปฏิบัติในหลักสูตรฝึกอบรมวุฒิบัตรผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติ Residency Training ในปี 2557 นี้ได้เปิดซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยและในโลกซึ่งเป็นหลักสูตรที่สามารถเสนอขอเทียบวุฒิระดับปริญญาเอก จากเดิมกว่าที่พยาบาลจะสามารถได้วุฒิบัตรการพยาบาลขั้นต้องใช้เวลารวบรวมและฝึกปฏิบัติด้วยตนเองหลังจากจบปริญญาโท ประมาณ 4 -10 ปี และมายื่นสอบกับสภาวิชาชีพการพยาบาลแต่ในหลักสูตรใหม่นี้จะใช้เวลาประมาณ 3 ปีโดยสร้างให้เกิดความเชี่ยวชาญและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มากกว่านั้นยังสามารถที่จะนำไปเสนอขอเทียบเท่าวุฒิปริญญาเอกด้วยซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ในปี 2557 ได้เปิดหลักสูตร Residency Training นำร่องกับสาขาอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ซึ่งครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยในระยะวิกฤต และผู้ป่วยอุบัติเหตุและบาดเจ็บ และในปี 2558 จะขยายไปสู่สาขาเด็กและสาขาเวชปฏิบัติชุมชนและเชื่อว่าการเปิดหลักสูตรนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนการผลิตพยาบาลเชี่ยวชาญทางคลินิกและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเวชปฏิบัติให้มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งในการประเมินของสภาการพยาบาลที่ผ่านมาระบุว่าประเทศไทยควรจะมีพยาบาลเชี่ยวชาญในสัดส่วนประมาณ 10% จากพยาบาลที่มีกว่า 1 แสนคนทั่วประเทศเพื่อให้ประเทศมีความพร้อมในระบบสุขภาพและสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังมีเพียงไม่ถึง 2%ซึ่งยังไม่เพียงพอ

“ในอนาคตเราอยากเห็นประเทศไทยสามารถยกระดับเรื่องการพัฒนาพยาบาลเชี่ยวชาญได้ และเราในฐานะโรงเรียนพยาบาลที่มีความพร้อมในด้านแหล่งการเรียนรู้ในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับแหล่งฝึกปฏิบัติอย่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำให้เราสามารถทำเรื่องนี้ได้เราจึงใช้จุดแข็งของเราในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามด้านสุขภาพในอนาคต“ผศ.ดร.จริยากล่าวในที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ