ทั้งนี้การวิจัยถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัย เพียง 9 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วมีจำนวนนักวิจัยมากกว่าประเทศไทย 10 เท่า
ดังนั้น คปก. จึงมีบทบาทและหน้าที่หลักในการเพิ่มจำนวนนักวิจัยระดับปริญญาเอก สร้างความเข้มแข็งให้ระบบงานวิจัย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีเป้าหมายที่จะผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูงในจำนวนที่มากพอ ที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ในด้านการวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ชื่อโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกหรือ คปก. เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนามให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชฯครบ 50ปีนับได้ว่าเป็นที่สุดแห่งความภาคภูมิใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ได้รับทุนทุกคน” ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนากล่าวและว่า
การดำเนินโครงคปก.มีเป้าหมายที่จะผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอก จำนวน 5,000 คน ภายใน 15 ปี ในระยะที่ 1 และหากการดำเนินการในระยะที่ 1 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะให้ดำเนินการในระยะที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายที่ จะผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกจำนวน 20,000 คน ภายในเวลา 15 ปีทั้งนี้ นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 ถึงปัจจุบัน คปก. สามารถผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศกว่า 2,300คนนับได้ว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากขาดงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และยอมรับในระดับสากลมากกว่า 5,700 เรื่อง ซึ่งนับได้ว่ามีผลสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เนื่องจากคุณภาพของอาจารย์และนักศึกษาที่เข้าสู่โครงการมีคุณภาพสูงมากมีความร่วมมือกับอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศที่มีคุณภาพกว่า 2,700 คน จาก 45 ประเทศ
ศ.ดร.อมเรศกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา คปก. ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการเพื่อสร้างขบวนการให้เกิดความร่วมมือ และบรรยากาศในการทำงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดจะมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการครั้งพิเศษ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ครั้งที่ 100 (RGJ Seminar Series C) เรื่อง “จากดุษฎีบัณฑิต คปก. สู่อาจารย์ที่ปรึกษา คปก.” (Second Generation of RGJ-Ph.D. Advisors). ถือเป็นการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก หรือ คปก. ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ คปก.ยังมีแนวคิดที่สำคัญคือการพัฒนาคนให้ดีนั้นไม่ใช่แค่ส่งเสริมทางด้านความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมสนับสนุนในทุกมิติทั้งการดำรงชีวิต ความคิด เพื่อให้เป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพ จึงจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการ การประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงกิจกรรมด้านสังคม โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยต่อสังคมไทย
“อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ คปก. คือนักศึกษาปริญญาเอกที่จบการศึกษา เป็นดุษฎีบัณฑิต คปก. ได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ดูแล และคอยช่วยเหลือนักศึกษารุ่นน้องต่อไป ปัจจุบันมีทายาทรุ่นที่ 2ของ คปก. อยู่เกินกว่า 60 คนแล้วเรียกว่าจากลูกไก่สู่แม่ไก่แล้ว” ศ.ดร.อมเรศกล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ความภาคภูมิใจสูงสุดของโครงการปริญญาเอกาญจนาภิเษก หรือ คปก.คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากรวิจัย การพัฒนาวงการวิจัย และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศให้ยั่งยืนสืบไปในอนาคต