การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนควรคำนึงถึงการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแบบต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ TV Digital Social media ร่วมกับการดำเนินงานของ Smart Classroom ทั้งนี้โรงเรียนที่มีศักยภาพแตกต่างกัน ทำให้บางแห่งอาจมีปัญหาระบบอินเทอร์เน็ต เพราะการพัฒนาผู้เรียนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยคือการเปิดโลกกว้างนอกห้องเรียนให้แก่เด็ก การสร้างองค์ความรู้ การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์จากผู้รู้ และระหว่างผู้เรียน การรู้จักประยุกต์ใช้เทคนิควิธีต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ เทคโนโลยีที่ใช้จะต้องง่ายต่อการเข้าถึงตามบริบทที่แตกต่างกันของผู้เรียน ดังนั้นการใช้ Smart Classroom จึงเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาวิจัยรองรับการดำเนินงานของโครงการ Smart Classroom โดยหากต้องการทำในระยะเวลาสั้น อาจศึกษาประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ Smart Classroom ที่มีการดำเนินการอยู่แล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อทราบถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ จุดแข็ง จุดอ่อน ข้อควรระวัง และตัวอย่างการดำเนินงานที่ดี (Best Practice)
แนวทางการดำเนินงานต่อไป สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะฝ่ายเลขานุการ ต้องการให้ได้กรอบความคิดการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษารูปแบบใหม่ จะจัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกันผู้เชี่ยวชาญ นักการศึกษา ผู้จัดทำนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้ผลิตสื่อเนื้อหาการเรียนการสอน เจ้าของผลิตภัณฑ์ด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ ผู้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการสื่อสารและใช้เทคโนโลยีฯ จะไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่ดำเนินงาน Smart Classroom เป็น Best Practice เพื่อได้เห็นสภาพจริงของการดำเนินงานในปัจจุบัน และเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายในการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษารูปแบบใหม่ต่อไป