ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาโดยความร่วมมือกับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์หนังสือแห่งที่ 7 ที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของหนังสือวิชาการที่มีการรวบรวมผลงานวิชาการ ทั้งในพื้นที่และส่วนกลางและภูมิภาค ตลอดจนหนังสือต่างประเทศแห่งแรกของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง ความผูกพันแน่นแฟ้นของวงการการศึกษาและความเชื่อมต่อระหว่างอุดมศึกษาในประเทศทั้งหมดกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“การบริหารจัดการศูนย์หนังสือจะต้องมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านการรวบรวมผลงานวิชาการต่างๆ การติดต่อประสานงานกับศูนย์หนังสือทั่วโลก การสั่งซื้อหนังสือทั้งไทยและต่างประเทศ การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนกรณีสั่งซื้อหนังสือต่างประเทศ การจำหน่ายหนังสือ และการเป็นสายส่งหนังสือ ปัจจุบันศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีสาขา 4 แห่ง คือ สาขาท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับความร่วมมือในการจัดศูนย์หนังสือนอกมหาวิทยาลัย มี 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และล่าสุด ศูนย์หนังสือ มรภ.ยะลา ” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความยินดีอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาโดยความร่วมมือกับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของ มธ.ที่ต้องการช่วยเหลือประเทศชาติให้ดีขึ้น ซึ่ง มธ. ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเพื่อแสดงว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือดำเนินการบางอย่างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่คนในพื้นที่และพร้อมช่วยแก้ไขปัญหาชายแดนใต้อย่างจริงจัง ภายใต้สถานการณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้นี้ มธ.จึงมีความตั้งใจที่จะมาจัดตั้งศูนย์หนังสือ ซึ่งจะเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการของคนใต้และนับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นระหว่าง มธ. และ มรภ.ยะลา ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนวิชาการ การพัฒนาบุคลากรคณาจารย์และนักศึกษา และการฝึกอบรมต่าง ๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรภ.ยะลา) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์หนังสือ มรภ.ยะลา นับเป็นประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญของ มรภ.ยะลา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาของนักวิชาการในพื้นที่ภาคใต้ที่สำคัญคือ การขาดเอกสารตำราทางวิชาการ เอกสารด้านการวิจัย ศูนย์หนังสือ มรภ.ยะลา จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
“ในวันนี้ มธ. ได้เข้ามาปักหมุดว่า เมื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหา ทาง มธ.ได้เข้ามาอยู่กับเรา ในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนภาคใต้ นับเป็นความภาคภูมิใจของเรา ซึ่ง มธ.ได้ให้เกียรติและความไว้วางใจ ในการจัดตั้งศูนย์หนังสือนี้โดยใช้ชื่อของ มรภ.ยะลา โดยความร่วมมือของศูนย์หนังสือ มธ. การมี ศูนย์หนังสือทำให้วันนี้เราพูดได้ว่า เราเป็นคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน ในด้านของความร่วมมือในอนาคตกับ มธ. เราจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาด้านการศึกษาเชิงวิชาการ การส่งนักศึกษาไปอบรม การส่งอาจารย์ไปแลกเปลี่ยน และท้ายที่สุด ความร่วมมือในกระบวนการเรียนการสอนของยะลาที่อาจมีบางหลักสูตรบางรายวิชาที่จะใช้หนังสือเอกสารของ มธ. ผมคาดหวังว่าจะเกิดความร่วมมือเหล่านี้ขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว
สำหรับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาโดยความร่วมมือกับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้น ณ ชั้น 1 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.