ดร.กนก คติการ ที่ปรึกษากรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าว เรื่อง วิถีสหกรณ์ช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาข้าวไทยได้อย่างไร ณ ห้องประชุม 226 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศน์ กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อนว่า พระราโชวาทจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องทฤษฎีใหม่ นับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทฤษฎีใหม่คือการพึ่งตนเอง ซึ่งก็คือหลักสหกรณ์นั้นเอง และทฤษฎีใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องของไร่นาเพียงอย่างเดียว แต่ทฤษฎีใหม่ คือ วิถีชุมชน หรือระบบคลัสเตอร์ เกษตรต้องพึ่งตนเองเพื่อนำไปสู่การระบบเสรีนิยม
“จากที่ท่านอธิบดีได้มอบหมายให้ผมลงไปในพื้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของข้าว พบว่าในช่วงวิกฤตใบประทวนจากโครงการรับจำนำข้าว สหกรณ์ไม่กระทบเพราะสามารถช่วยเหลือตัวเองและสมาชิกสหกรณ์ได้ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้สมาชิกสหกรณ์กู้เงินของสหกรณ์ไปใช้ก่อนภายใต้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ไม่ใช่เงินกู้ เหล่านี้ คือ ประโยชน์ที่ได้รับจากระบบสหกรณ์ ในยามวิกฤติ “ดร.กนก คติการ กล่าว
ดร.กนก คติการ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในตอนนี้สหกรณ์เข้ามาช่วยเรื่องข้าว โดยให้สหกรณ์ได้มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชนในการส่งออก มีกระบวนการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นจนจบ นับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ดี ข้าวเปลือกสมบูรณ์ ข้าวสาร คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งหมดดำเนินการอย่างเป็นระบบ และในช่วงวิกฤตของประเทศก็ได้อาศัยขบวนการสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือ อันสอดคล้องกับพระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการพึ่งตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทั้งชุมชน แล้วนำไปสู่การขับเคลื่อนระบบการเกษตรของไทยทั้งระบบที่มีขบวนการสหกรณ์เป็นกลไก
ระบบสหกรณ์ เป็นระบบที่สมาชิกร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันรับประโยชน์ มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นับเป็นพื้นฐานสังคม เศรษฐกิจที่ดีที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และระบบสหกรณ์นั้นนับเป็นระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เพราะการดำเนินงานการใช้ชีวิต และการผลิตภายใต้เงื่อนไขของหลักการสหกรณ์ นั้นนับเป็นแนวทางที่ครบถ้วน ทั้งระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมือง
ทางด้าน ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางและวิธีการที่จะอาศัยวิถีสหกรณ์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาข้าวไทย โดยมีผู้แทนจากกรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสหกรณ์จังหวัด และผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าร่วมหารือ โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการเพื่อให้มีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเกี่ยวกับข้าวทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่เรื่องการผลิต การแปรรูปและการตลาด
โดยเรื่องการผลิตจะเริ่มต้นที่เมล็ดพันธุ์โดยจะให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบบูรณาการระหว่างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี กับเครือข่ายผู้เพาะปลูก ไปจนถึงข้าวเปลือกและข้าวสาร จากนั้นก็เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการตลาด และระบบโลจิสติก แบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงกันเป็นระบบจะมีการค้นหาสหกรณ์ต้นแบบในทุกภาคของประเทศ โดยภาคเหนือจะเป็นสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสหกรณ์ในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดนครราชสีมา ภาคกลางเป็นสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดสุพรรณบุรี ภาคใต้เป็นสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นก็จะมาทำแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวทั้งระบบต่อไป
“เมื่อมีสหกรณ์นำร่องที่เป็นแบบอย่างก็จะให้สหกรณ์อื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป ซึ่งจะก่อประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวนาเป็นอย่างยิ่ง ตลอดถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการผลิตข้าวได้นำเอาไปใช้ดำเนินการ ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้นก็จะเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยตอนนี้ก็มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวอยู่แล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการการยกระดับการผลิตการจัดการเมล็ดพันธุ์ดีของสถาบันเกษตรกร โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวมีถึง 75 สหกรณ์ ในพื้นที่ 37 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ โครงการให้สหกรณ์กู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงินประมาณ 160 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมไปลงทุนทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ดี จำหน่ายให้แก่สหกรณ์ แล้วสหกรณ์ก็กระจายสู่สมาชิกสหกรณ์ทำการเพาะปลูกต่อไป” ดร.จุมพล สงวนสินอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ คือก่อให้เกิดการทำงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีทั้งระบบนับตั้งแต่การศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์ดีที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในพื้นที่แต่ละภูมิภาค ทั้งภูมิศาสตร์และภูมิสังคม ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ดีได้โดยง่าย อันจะก่อให้เกิดผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 30,000 ตัน ต่อฤดูการเพาะปลูกคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งในฤดูการผลิตปี 57 ผลจากการดำเนินงานในโครงการด้านเมล็ดพันธุ์ดีของกรมส่งเสริมสหกรณ์ คาดว่าจะทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ดีกระจายสู่เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่ได้ประมาณ 2 ล้านไร่ ได้ข้าวคุณภาพดี กว่าล้านตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท
“อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งคิดว่าถ้าเราสามารถดำเนินการตรงนี้ได้อย่าแพร่หลายก็น่าจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมากกว่านี้ และจะได้ข้าวที่นำมาแปรรูปเป็นข้าวสารที่ดีมีคุณภาพ ตามความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี” ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวในตอนท้าย