ในการประชุมนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และนิวเคลียร์ ประจำปี 2557 ซึ่ง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นของ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากทั่วโลก ชี้ให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง ระหว่างวันที่ 28-30สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากคนมักจะรู้จักนิวเคลียร์ในด้านลบ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีนิวเคลียวร์ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ในสาขา เกษตร สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม การแพทย์ ความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์และรังสี การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ
ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรของการประชุมฯ กล่าวว่า การสื่อสาร การให้ความรู้ในด้านการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติแก่บุคคลทั่วไปเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากหลายคนยังมองในภาพลบมากกว่าจากการรับรู้ข้อมูลผ่านการนำเสนอข่าวต่าง ๆ ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่ได้สอนฟิสิกส์แก่นิสิตที่ไม่ได้อยู่ในสาขาวิทยาศาสตร์ เมื่อได้สอดแทรกให้ทราบถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ นิสิตก็เข้าใจมากขึ้น
ดร.รัฐชาติ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยได้ยกตัวอย่างงานวิจัยด้านฟิสิกส์พื้นที่เคยทำให้กับ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรปเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นการทำร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เพิ่งจะมีการนำไปต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นประเทศไทยต้องหาทางเพิ่มจำนวนบุคลากรรุ่นใหม่ที่สนใจงานวิจัยพื้นฐานเสียแต่เนิ่น
“ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นวิจัยนิวเคลียร์พื้นฐาน เพราะต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะนำไปพัฒนาต่อยอดจนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น เครื่องถ่ายเอ๊กเรย์แบบ CT scan หรือเครื่อง MRI ที่ปัจจุบันมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ก็เป็นผลพวงมาจากงานวิจัยนิวเคลียร์ฟิสิกส์พื้นฐานเช่นเดียวกัน” ดร.รัฐชาติ กล่าว
นอกจากนี้ ดร.รัฐชาติ ยังได้แนะให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็น AEC ในปีหน้า ต้องทำวิจัยด้านนิวเคลียร์ร่วมกันจึงจะเกิดผลดีในการสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ดังที่เคยประสบความสำเร็จในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาเครื่องมือต้นกำเนิดนิวตรอนแบบพัลส์ ทั้งนี้ในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศจำเป็นต้องดำเนินการวิจัยภายใต้มาตรฐานเดียวกันซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และสำหรับแนวทางความร่วมมือของกลุ่มประเทศในอาเซียนนั้น ควรเน้นงานด้านเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม การแพทย์ ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้ครอบคลุมทุกสาขาดังที่กล่าวมาแล้ว