นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลโครงการจัดระบบการปลูกข้าวของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในปีงบประมาณ 2555 โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง และปลูกข้าวพร้อมกันในพื้นที่เดียวกันของโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาเพื่อช่วยลดปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและข้าววัชพืช โดยโครงการฯ กำหนดรูปแบบการปลูกข้าวตามสภาพพื้นที่โครงการชลประทานและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาให้มีการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง พร้อมส่งเสริมให้ปลูกพืชหลังนาและพืชปุ๋ยสด 1 ครั้ง แทนการปลูกข้าว และส่งเสริมให้เว้นปลูก (พักดิน) หลังจากทำนาครบ 2 ครั้ง
ผลการดำเนินงาน พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 40,462 ราย พื้นที่รวม 1,106,424 ไร่ ในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเกษตรกรได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนา (ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวาน) จำนวน 2,499.613 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 466,239 ไร่ (ร้อยละ 71 ของเป้าหมาย) และได้รับเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด (ปอเทือง ถั่วพร้า เป็นต้น) จำนวน 305.21 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 38,152 ไร่ (ร้อยละ 108 ของเป้าหมาย)
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเสริมว่า จากการติดตามผลในพื้นที่โครงการ 6 จังหวัด (พิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร ลพบุรี สิงห์บุรี และสระบุรี) ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2557 โดยสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างจำนวน 180 ราย พบว่า เกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์พืชหลังนาที่ได้รับการสนับสนุนไปปลูกในพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 86 ของพื้นที่ที่ได้รับ และปลูกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยไถกลบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน คิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูก เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับเมล็ดพันธุ์ล่าช้าไม่ทันฤดูกาลเพราะปลูก สำหรับเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดเกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่ร้อยละ 82 ของพื้นที่ที่ได้รับ ซึ่งมีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมความรู้และนำไปปฏิบัติคิดเป็นร้อยละ 93 โดยในภาพรวม พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ร้อยละ 94 ของพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการที่ดำเนินการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ยังส่งผลให้มีพื้นที่เสียหายจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลลดลงจากร้อยละ 14.09 เป็นร้อยละ 1.90 ของพื้นที่ปลูกข้าว และมีพื้นที่เสียหายจากข้าววัชพืชลดลงจากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 1.46 ของพื้นที่ปลูกข้าวอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าในภาพรวมนั้น นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและข้าววัชพืชแล้ว ยังสามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตข้าวได้เฉลี่ยไร่ละ 33 กิโลกรัม หรือร้อยละ 4.50 (จาก 734 กก./ไร่ เป็น 767 กก./ไร่) และเกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิจากการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 45,605 บาท หรือ ร้อยละ 34 (จากครัวเรือนละ 162,821 บาท เป็น 217,426 บาท)