นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานในพิธีเปิดงานสรุปผลการศึกษาและแถลงผลวิจัยกิจกรรมวัฒนธรรมการอ่านสร้างวัฒนธรรมการคิด ระยะที่ 2 พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับกลุ่มเขต สถานศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตามพันธกิจสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สร้างวัฒนธรรมการคิด หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ในปี 2556 สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้ผลักดันโครงการรักการอ่านและทำให้คนกรุงเทพมหานครอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น โดยจัดให้มีแหล่งการอ่านครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในเด็ก หรือ Bookstart ระยะที่ 1 อาทิ กิจกรรมเพาะเมล็ดพันธุ์การอ่าน สร้างสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ เพิ่มศักยภาพบุคลากร พัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการอ่าน ในพื้นที่ นำร่อง 2 เขต ได้แก่ เขตราษฎร์บูรณะและเขตดุสิต และใน ปี 2557 ได้ขยายผลการศึกษากิจกรรมวัฒนธรรมการอ่านสร้างวัฒนธรรมการคิด ระยะที่ 2 โดยกระจายพื้นที่เพิ่ม 12 เขต ได้แก่ เขตพญาไท เขตวังทองหลาง เขตบางคอแหลม เขตสวนหลวง เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตประเวศ เขตบึงกุ่ม เขตคลองสาน เขตตลิ่งชัน เขตบางขุนเทียน และเขตบางแค โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายช่วงเด็กแรกเกิด-6ปี ครอบครัว ครู และผู้ดูแลเด็กจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างชัดเจนซึ่งขับเคลื่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวปฎิบัติและสานต่อโครงการอย่างต่อเนื่อง
“จากสถิติที่ทำไว้ก่อนจะมีโครงการเมืองหนังสือโลก มีคนอ่านหนังสือ 61% ปัจจุบันมีคนอ่านหนังสือได้แล้ว 81% ในนโยบายของกรุงเทพมหานครมุ่งเน้นเรื่องการอ่านเป็นสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มีส่วนในการสร้างคน เราอยากให้ ทุกคน ทุกเขต ช่วยกันผลักดันให้เด็กไทยรักการอ่าน ถึงแม้รางวัลเมืองหนังสือจะเปลี่ยนเป็นที่อื่นไปแล้ว แต่เราจะยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน สร้างวัฒธรรมการคิด อยู่ที่พวกเราทุกคนที่จะทำอย่างไรให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือ เพราะประชาชนจะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานครได้ประโยชน์ เรามีพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ประเทศชาติได้ประโยชน์ ทุกคนได้ประโยชน์” นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าว
ทางด้านคณะทำงานศึกษากิจกรรมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สร้างวัฒนธรรมการคิด Book Start ระยะที่ 2 นำโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี เล่ห์มงคล หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบไปด้วย การส่งเสริมพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะสำหรับบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู รวมถึงผู้ดูแลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัย ทั้งด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข อีกทั้ง ยังมีกระบวนการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ในโรงเรียนผ่านฐานกิจกรรมการเรียนรู้ ร่วมกับการใช้เครื่องมือส่งเสริมการอ่านในชั้นเรียนสำหรับครู
สรุปผลการศึกษาวิจัยพบว่า การอ่านช่วยให้เด็กเกิดความสุข มีความกระตือรือร้นในการเรียน จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 ระยะ มีความพึงพอใจอย่างมากต่อผลที่เกิดจากการอ่านหนังสือร่วมกันกับลูกตลอดจนครูและบุคคลกรที่เกี่ยวข้องมีความสนใจต่อกิจกรรมใหม่ๆด้านการอ่านและมีส่วนร่วมสร้างสังคมแห่งการอ่านให้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างยั่งยืน จะต้องเริ่มสร้างพื้นฐานตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิด โดยคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างครบวงจร
การสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างยั่งยืน นอกจากต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยแรกเกิดแล้วยังต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่าน หากเราส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน เห็นคุณค่าของการอ่าน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการอ่านที่มีคุณภาพขึ้นในสังคมได้ วัฒนธรรมการคิดจะตามมาอย่างแน่นอน