นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังพิธีมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2556 และ 2557 ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณ โดยเฉพาะเงินนอกงบประมาณประเภท ทุนหมุนเวียนเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาในทุกภาคส่วน เช่น ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงของประเทศ โดยทุนหมุนเวียนที่อยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง ณ ไตรมาส 3 ของปี 2557 (30 มิถุนายน 2557) มีจำนวน 115 ทุน ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวม จำนวน 2,989,203 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.69 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อีกทั้ง ได้รับสนับสนุน ผ่านระบบเงินงบประมาณปกติเฉลี่ยถึงประมาณ 100,000-150,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่คณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล และกระทรวงการคลังให้ความสำคัญ โดยมีการพัฒนานำระบบประเมินผล การดำเนินงานทุนหมุนเวียนมาเป็นเครื่องมือช่วยในการกำกับและผลักดันให้ทุนหมุนเวียนดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และประเทศชาติอย่างแท้จริงเช่นเดียวกับระบบประเมินผลการดำเนินงาน ของรัฐวิสาหกิจ
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า คสช. และรัฐบาล ได้มีการกำหนดแนวนโยบายไว้อย่างชัดเจน สำหรับการกำกับดูแลทุนหมุนเวียนทั้งระบบ โดย คสช. ได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการบริหาร ทุนหมุนเวียน พ.ศ...เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 เพื่อเป็นการกำหนดระบบการบริหารทุนหมุนเวียนตั้งแต่กระบวนการจัดตั้ง การบริหารจัดการ การติดตามประเมินผล จนถึงการยุบรวม/เลิกทุนหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอน การตรวจร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 คสช. ได้เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้ง การบริหารจัดการ และการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน พ.ศ... ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามและจะได้ลงประกาศในราชกิจจาฯ โดยเร็ว เพื่อใช้กำกับและบริหาร ทุนหมุนเวียนไปพลางก่อนที่ร่างกฎหมายการบริหารทุนหมุนเวียนจะผ่านการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สำหรับการมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2556 และ 2557 เป็นแรงจูงใจเพียงเบื้องต้น หลังจากนี้ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้รับแนวนโยบายจาก คสช. และรัฐบาล ให้กำหนดแรงจูงใจเพิ่มเติมที่มี ลักษณะเป็นรางวัลค่าตอบแทนพิเศษเทียบเคียงกับผลการประเมิน แต่ก็จะสอดคล้องกับระบบการพิจารณากรณีที่ ทุนหมุนเวียนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามวัตถุประสงค์และมีผลการประเมินต่ำกว่าค่ากลาง ระดับ “3” จาก ระดับ “5” ต่อเนื่อง 3 ปี ก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการดำรงสถานะการเป็นทุนหมุนเวียน
โดยทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลปี 2556 และ 2557 ประกอบด้วย จำนวน 5 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1. รางวัล
ผลการดำเนินงานดีเด่น 2. รางวัลการพัฒนาดีเด่น 3. รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนดีเด่น 4. รางวัลการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 5. รางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศ รวมทั้งสิ้น 36 รางวัล เป้าหมายของการประเมินผลการบริหารและการดำเนินงานทุนหมุนเวียนต่างๆ จะทำให้ทุกทุนหมุนเวียนมี มาตรฐานการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์ต่อประชากรในทุกกลุ่มเป้าหมาย และเป็นกลไกสำคัญ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปอย่างยั่งยืน" นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ กล่าว