ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ดนตรีเป็นเสมือนสื่อภาษาสากลทางวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์เกิดความรักใคร่กลมเกลียว ยิ้มแย้มด้วยไมตรีจิต ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน และสามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง ด้วยมิติทางวัฒนธรรมได้ ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงใช้ดนตรี เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางวัฒนธรรมให้มีความสมดุลทั้งในมิติของความเป็นสากลและสามารถเชื่อมโยง กับรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยโครงการนี้เป็นการรวมตัวของนักวิชาการ นักดนตรี และเยาวชน AYE เพื่อสร้าง มิติใหม่ให้กับผู้ที่มีพรสวรรค์และบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านดนตรีทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน ได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านความคิดในวัฒนธรรมที่มีความเหมือนและความต่างให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งกระทรวงวัฒนธรรมจะมีการเปิดศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนเพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนกิจกรรม ทางวัฒนธรรมเสริมสร้างศักยภาพของประเทศต่อไป
คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ อธิการบดี สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ทางด้านดนตรีคลาสสิกทั้งไทยและตะวันตก โดยเป็นการรวมตัวของเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Ensemble : AYE) ทั้ง 10 ประเทศที่มีความสามารถแตกต่างกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านดนตรีคลาสสิกสู่สาธารณชน ซึ่งกิจกรรมที่สำคัญประกอบไปด้วย การจัดแสดงคอนเสิร์ตของวงดนตรีเยาวชนอาเซียน การแสดงของกอไผ่ของวงดนตรีร่วมสมัย การแสดงขับร้องประสานเสียงของวง Soka Gakkai ในการแสดงชุด “Kangsadal” การบรรยายของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรีจากทั้งในประเทศอาเซียนและต่างประเทศ (Keynote Presentation) อาทิ Prof. Jacques Moreau จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส, Prof. Peter Dejans จากราชอาณาจักรเบลเยี่ยม, Prof. Bernard Lansky จากสาธารณรัฐสิงคโปร์ , อาจารย์บรูซ แกสตัน จากศิลปินศิลปาธร และกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย