นายภารไดย ธีระธาดา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี เผยว่า “โครงการ “ของเก่าสร้างอาชีพใหม่” เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เยาวชนไฟ ฟ้า ประชาอุทิศ ที่ค้นพบแนวทางเปลี่ยนชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งขึ้น ด้วยการส่งต่อความรู้ที่ได้เรียนใน ไฟ ฟ้าให้แก่ชาวชุมชน เพื่อให้ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด”
โครงการ “ของเก่าสร้างอาชีพใหม่” มีวัตถุประสงค์ที่จะจุดประกายเยาวชนและชุมชนให้เห็นความสำคัญของสิ่งของเหลือใช้ ที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่า สร้างเป็นอาชีพและรายได้ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาชุมชมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมกันนี้ ยังช่วยจัดการปัญหาด้านขยะที่มีจำนวนมากขึ้นในชุมชน โดยนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ เริ่มต้นจาก เยาวชนไฟ ฟ้าได้ออกสำรวจชุมชนในพื้นที่และพบว่าชุมชนใต้สะพาน (โซน 1) เป็นชุมชนที่ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับซื้อของเก่าและมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีรายได้น้อย จึงได้นำความรู้จากวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปร่วมสอนชาวชุมชน ให้รู้จักการนำกล่องนมมาแปรรูปเป็นกระดาษเพื่อผลิต ปกสมุด และนำกระดาษนิตยสารหรือถุงกระดาษเหลือใช้ มาดัดแปลงเป็นที่ใส่นามบัตร ที่สามารถจำหน่ายได้ โดยปีนี้ นับเป็นปีที่ 2 มีการจัดอบรมในหลักสูตร “ของเก่าสร้างอาชีพใหม่ เฟส 2” โดยแบ่งเนื้อหาการอบรมเป็น 2 ส่วนคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้และธุรกิจฉบับชาวบ้าน นอกจากนี้ ไฟ ฟ้า ประชาอุทิศ ยังช่วยส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนฯ ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “SA-PAN” โดยนำสินค้าไปทดลองวางขายพร้อมกันเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนศกนี้ ที่ร้านหนังสือเดินทาง ร้านชบาฉาย ร้าน ECO Shop ร้าน M.I.N.D Café ในกรุงเทพฯ รวมไปถึงร้าน JUN JUN จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สนใจผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อกลุ่ม SA-PAN ได้ที่โทร. 084-927-2114, 086-784-8408
ทั้งนี้ ภายในงานส่งมอบโครงการฯ เยาวชนไฟ ฟ้า จิตอาสาทีเอ็มบี และชาวชุมชนใต้สะพาน (โซน 1) ต่างร่วมเผยความคิดเห็น อาทิ
นันทนา บุญลออ หรือครูอีฟ คุณครูอาสาสมัครไฟ ฟ้า ประชาอุทิศ และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยว่า “เฟสที่ 2 เราเลือกผลิตภัณฑ์ ที่สามารถขายในท้องตลาดได้จริง คือ สมุดบันทึกทำมือ และที่ใส่นามบัตร จากผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 5 ชนิด ในปีแรก โดยเราพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพิ่มคอลเลคชั่น เรามีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชน ไฟ ฟ้า และชาวชุมชน ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งรูปแบบ สีสัน แล้วมีดีไซเนอร์มาช่วยในการตัดสินใจ ใช้เวลากันประมาณ 5-6 เดือน กว่าจะได้ข้อสรุป”
เฉลิมศักดิ์ ลีวังษี ประธานชุมชนใต้สะพาน(โซน 1) เผยว่า “ปีที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้น เรายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมาก แต่ปีที่ 2 นี้ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น ที่แน่ๆ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นและขยะที่เป็นกล่องนมในชุมชนลดลงมาก และยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้ชุมชนอื่นๆ นำไปปรับใช้ หรือคิดที่จะสร้างรายได้เพิ่มจากวัสดุเหลือใช้บ้าง”
เบ้น-ณัฐกฤษ บุตตะวงษ์ เยาวชนไฟ ฟ้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสารสาสน์ประชาอุทิศ พิทยาคาร เผยว่า “ก่อนที่จะสรุปเป็นแบบ เราต้องทดลองกันหลายวิธีหลายแบบ ทั้งสีสัน ขนาด สัดส่วน องค์ประกอบศิลป์ มีการเรียนรู้จากตัวอย่างหลายชิ้น นำไอเดีย ความคิดเห็น คำวิจารณ์ต่างๆ จนสรุปเป็นแบบ ผมอยากให้คนในชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และนำรายได้มาเป็นกำไรชีวิต”
ฮอล-วงศกร อาจโสม เยาวชน ไฟ ฟ้า นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสารสาสน์ประชาอุทิศพิทยาคาร เผยว่า “แม้ว่าเราจะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แต่เราสามารถมาช่วยให้คนในชุมชนได้มีรายได้จากสิ่งที่เราทำ และได้ใช้ความรู้วิชาที่เรียน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชนฯ จากเดิมที่ชาวชุมชนฯ จะใช้เวลาว่างเล่นการพนัน ตอนนี้หันมาทำสมุดทำมือกัน มีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น มีความรู้ มีรายได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาโชคชะตา หรืออบายมุขต่างๆ”
น้องจ๋าย - ญาตาวี ชุ่มชูวงศ์ เยาวชน ไฟ ฟ้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสารสาสน์ประชาอุทิศพิทยาการ กล่าวว่า “รู้สึกดีมากที่ได้มีโอกาสมาถ่ายทอดความรู้ต่อให้ชุมชนด้วย เหมือนเราได้มาสร้างอาชีพให้คุณป้าทั้งหลาย ได้ช่วยสังคมด้วย ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ได้ทำเพื่อคนอื่นค่ะ”