ปรับระบบความคิด ลดวิกฤตการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า

พุธ ๑๐ กันยายน ๒๐๑๔ ๑๓:๕๘
ปรับระบบความคิด ลดวิกฤตการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า

โดย นพ.จิตริน ใจดี

จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม ในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที ทางองค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า ซึ่งสาเหตุนั้นอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น เกิดความเครียดสะสม ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และบีบคั้นต่อจิตใจ จนทำให้หาทางออกไม่ได้ จนท้ายที่สุดเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด โดยปัญหาเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอก แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยภายในที่แฝงเร้นในร่างกายเราที่จะนำไปสู่หนทางมรณะของการฆ่าตัวตายโดยไม่รู้ตัวที่รู้จักกันในนาม “โรคซึมเศร้า”

นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า “โรคซึมเศร้า” นั้นสัมพันธ์กับระดับของสารเคมีในสมองที่ควบคุมเรื่องอารมณ์เศร้าเสียสมดุลไป โดยเฉพาะสารสื่อประสาทที่ชื่อ “เซโรโทนิน” (serotonin) และ “นอร์เอพิเนฟริน” (norepinephrine) ดังนั้นเมื่อแพทย์ให้ยาไปปรับระดับสารเคมีในสมองจึงทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้ จริงๆแล้ว “โรคซึมเศร้า” ยังมีสาเหตุการเกิดอีกหลายอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยควรพูดคุยทำความเข้าใจกับแพทย์ผู้รักษาเพื่อที่จะให้การรักษาได้ตรงจุด แต่ในที่นี้จะขอกล่าวในภาพรวมว่า “ทัศนคติของคนในสังคมนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อบุคคลที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” พูดง่ายๆว่าหากเรามีญาติสนิทหรือคนที่รักป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แล้วการที่เขาเหล่านั้นจะหายจากโรคนี้ได้ช้าหรือเร็วก็เป็นผลมาจากทัศนคติของคนรอบข้างด้วยเช่นกัน ช่วงนี้กระแสสังคมมีความตื่นตัวให้ความสำคัญกับ “โรคซึมเศร้า” มากขึ้น มีการพูดถึงเรื่องนี้กันในวงกว้างหลายๆคนต่างค้นหาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ทั้งที่มีนำเสนอในสื่อออนไลน์และในสื่อโทรทัศน์ บางข้อมูลฟังดูแล้วน่าตกใจ ฟังดูน่ากลัว จนบางคนเริ่มสงสัยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “โรคซึมเศร้านั้นคืออะไร” “มีใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า” “ถ้าฉันเป็นโรคซึมเศร้าแล้วจะต้องทำอย่างไร” คำถามเหล่านี้มีคำตอบ เดี๋ยวจะขออธิบายเป็นภาษาที่ง่ายๆต่อการทำความเข้าใจนะครับ

อารมณ์เศร้านั้นเป็นอารมณ์พื้นฐานของทุกๆ คนอยู่แล้ว ทุกคนเกิดมาต้องเคยเศร้า เคยเสียใจ ส่วนใหญ่อารมณ์เศร้ามักเกิดตามหลังการสูญเสีย หรือ เมื่อบุคคลนั้นต้องเผชิญปัญหาอุปสรรค์ต่างๆแล้วหาทางแก้ไขไม่ได้ ในคนปกตินั้นอารมณ์เศร้าจะเป็นอยู่ไม่นาน จะค่อยๆดีขึ้นเองและในที่สุดก็ปรับตัวได้ ทำใจได้ หลายคนสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส กลับมาฮึดสู้แก้ไขในสิ่งที่ทำให้เศร้าได้สำเร็จ ส่วน “โรคซึมเศร้า” นั้นจะมีลักษณะที่ชัดเจนและเป็นยาวนานกว่า คือ จะมีอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์หงุดหงิดที่เป็นมากและเป็นอยู่เกือบตลอดทั้งวัน ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเอง ทำให้บกพร่องในเรื่องการคิด การตัดสินใจ ไม่สามารถทำหน้าที่การงานหรือการเรียน ได้เหมาะสมดังเดิม บ่อยครั้งคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะไม่มีความสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว เรียกง่ายๆว่า “ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น” “เบื่อหน่ายไปหมด” รวมทั้งมีอาการต่างๆเหล่านี้ตามมาด้วย เช่น กินเปลี่ยนไปจากเดิม เบื่ออาหาร กินข้าวไม่อร่อย หรือบางคนเป็นตรงกันข้าม คือ กินมากขึ้น ทั้งๆที่ไม่หิว ทำให้มีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลง เกินกว่าร้อยละ 5 ใน 1 เดือน หรือการนอนเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น นอนไม่หลับ นอนได้สั้นกว่าเดิมมาก มักตื่นก่อนเวลาตื่นประจำของตน หรือ บางคนจะนอนทั้งวันโดยไม่อยากลุกไปทำอะไร ตลอดจน ท่าทางเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เชื่องช้า ซึม เก็บตัว หรือบางคนเป็นตรงกันข้าม คือ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย รู้สึกอึดอัด รู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไร หลายคนจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดศีรษะ สมาธิ ความจำไม่ดี ทำให้ทำงานผิดพลาดมากกว่าที่เคย ทำอะไรก็ไม่มั่นใจทั้งๆที่เป็นงานที่ตนเคยทำอยู่เป็นประจำ มีความคิดเชิงลบต่อตัวเองและโลกภายนอก เชื่อว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ คิดว่าไม่มีทางหรือคงไม่มีใครจะมาแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีความคิดเช่นนี้มาก่อน มีความคิดเรื่องการตายหรือการฆ่าตัวตายอยู่ซ้ำๆ

“ความคิดเชิงลบแบบตำหนิตัวเองและความคิดย้ำๆ ซ้ำๆ เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนี้เป็นอาการของโรคซึมเศร้า” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะ “คนส่วนใหญ่ที่มีอาการซึมเศร้านั้น มักจะไม่รู้อาการตัวเองหรือถึงรู้ก็ไม่มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะเดินไปหาตัวช่วย” ดังนั้นหากคนใกล้ชิดและครอบครัวสังเกตได้ว่าคนที่เรารักมีท่าทีเศร้าๆหรือเปลี่ยนไปจากเดิม ก็ควรแสดงท่าทีเข้าใจ ให้กำลังใจและช่วยเหลือให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีก็จะทำให้ความคิดหรืออาการต่างๆเหล่านี้ดีขึ้นได้”

หลายครั้งที่บุคคลที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้นต้องเผชิญศึก 2 ด้าน ทั้งเจอกับอารมณ์เศร้าที่มาจากตัวโรคเองและยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากครอบครัวและคนใกล้ชิด บางคนมักจะมองว่า “โรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่เกิดจากความอ่อนแอ ความขี้เกียจ” จนเผลอไปวิพากษ์วิจารณ์หรือเอาความคิดของตัวเองไปตัดสินผู้ป่วย บางคนอาจจะมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นแค่เรื่องเล็กๆจึงมองข้ามไปและไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแล บางคนอาจจะแนะนำให้ “อย่าคิดมาก” “ทำไมถึงยังไม่หายสักที ปัญหาแค่นี้เอง หรือรีบๆ ให้คำแนะนำไปในสิ่งที่ผู้ป่วยทำไม่ได้จริงในขณะนั้น ท่าทีต่างๆดังที่ยกตัวอย่างมานี้จะไม่เป็นผลดีต่อคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

หากป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว อันดับแรก คือ ต้องปรับทัศนคติของตัวเองก่อนว่า “โรคซึมเศร้า” ก็เป็นเหมือนโรคอื่นทั่วๆไป เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนและไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับคนใกล้ชิดหรือคนที่ไว้ใจ (ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณร้อยละ 5 ยิ่งถ้าหากมีอาการมากๆ เช่น มีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย หรือ บกพร่องในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ ก็ควรรีบหาช่องทางรักษาดูแลใจของตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ เช่น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะนั่นก็คือ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพดีอยู่หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา เป็นการให้ยาเพื่อไปปรับสารเคมีในสมองที่คุมอารมณ์เศร้าให้กลับสู่ภาวะสมดุล การรักษาทางจิตใจ เป็นการรักษาที่เน้นพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจตนเองและปรับทัศนคติ ปรับวิธีการมองตัวเองและฝึกทักษะต่างๆที่จะช่วยให้เอาชนะอาการซึมเศร้าที่เป็นอยู่ การทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่แล้วการรักษาแบบควบคู่ไปด้วยกันระหว่าง การกินยา การรักษาทางจิตใจและการทำการทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด จะให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยได้รับความรัก ความเข้าใจจากบุคคลรอบข้างด้วยแล้วก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่จะทำให้หายจากโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๐๐ วว. จับมือจังหวัดสระบุรี/อบต.ตาลเดี่ยว ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก นำ วทน. พัฒนาศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน
๑๑:๐๐ วว.จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมวิจัยนวัตกรรม พัฒนาบัณฑิตสมรรถนะสูง ด้วยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
๑๑:๓๗ เปลี่ยนธุรกิจคุณให้โตคูณร้อย กับหลักสูตร CMF เปิดรับสมัครรุ่นที่ 21 แล้ววันนี้ !!
๑๑:๒๖ GFC เสิร์ฟข่าวดีรับศักราชใหม่ปี 68 ดีเดย์ให้บริการคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก GFC Ubon เต็มสูบ
๑๑:๐๐ โรงพยาบาลลานนา จัดอบรม ชาวลานนาร่วมใจ ต้านโรคภัยจากภาวะอ้วนลงพุง
๑๑:๑๕ ค้นหา รักแท้ ในมุมมองใหม่กับศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในกิจกรรม ธรรมะในสวน ณ สวนเบญจกิติ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้
๑๑:๑๐ เชฟรอน (ไทย) รุกเจาะตลาดน้ำมันเครื่อง เพื่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
๑๑:๐๗ RML เปิดศักราชปี'68 มาแรง! หุ้นกู้มีหลักประกันขายหมดเกลี้ยง 100%
๑๑:๐๐ สมาคมดินโลก ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือเสริมสร้างการจัดการดินเพื่อเกษตรยั่งยืน
๑๐:๐๐ ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค ฉลองเทศกาลตรุษจีนสุดยิ่งใหญ่ CHINESE NEW YEAR 2025