นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกันยายน 2557 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ระดับ 42.61 จุด หรือลดลง 13.47 จุด ต่ำกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนทัศนคติในเชิงลบต่อราคาทองคำระหว่างเดือน โดยมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ลงทุนทองคำและกลุ่มผู้ค้าทองคำ ซึ่งได้รับแรงกดดันมาจากการส่งสัญญาณด้านนโยบายการเงินและการตอบรับต่อความเสี่ยงในการสู้รบในตะวันออกกลาง-ยูเครนที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่เงินบาทยังคงผันผวนตามปัจจัยภายนอกหลังดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวแข็งค่าขึ้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้ายังสะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำในประเทศ แต่ลดลงจากเดือนก่อน โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 56.65 จุด ลดลงจากเดือนก่อน 2.20 จุด ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างยังเชื่อว่าราคาทองคำมีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้ในอนาคตแต่ระดับความมั่นใจลดลง
สำหรับบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 11 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่มีมุมมองราคาทองคำในช่วงเดือนกันยายนจะทรงตัว โดยมีผู้ค้า 3 รายมองทองคำปรับเพิ่มขึ้น อีก 3 รายมองราคาทองลดตัวลงระหว่างเดือน ขณะที่อีก 5 รายมองใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ ผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,300-1,330 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,240-1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,600-20,200 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 18,900-19,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำได้จัดรวบรวมการใช้นโยบายการเงินและผลกระทบพบว่าการใช้นโยบายการเงินของธนาคารสำคัญมีผลกระทบต่อราคาทองคำในมิติที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีผลกระทบอย่างมากตั้งแต่การลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายนปี 2550 โดยแบ่งเป็นช่วงการลดดอกเบี้ย 14 เดือนและการใช้นโยบาย QE ตลอด 5 ปี 9 เดือน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวฐานเงินของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 7.3 ล้านล้าน เป็น 11.4 ล้านล้าน หรือเพิ่มขึ้น 55.25% ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรปกลับให้ผลที่แตกออกไป โดยการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 และธนาคารกลางญี่ปุ่นในปี 2556 ไม่ได้ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากความสัมพันธ์ของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกับราคาทองคำ