สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดตัวโครงการ “ตั้งหลัก ก่อนตรวจ” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม ประเดิมด้วยการจัดเสวนา ร่วมกับนิตยสารชีวจิต โดยผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพ พร้อมจัดทำหนังสือ “ตั้งหลัก ก่อนตรวจ ๒๐ ถาม-ตอบ เรื่องตรวจสุขภาพ” จำนวนกว่า 30,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้สนใจทั่วไป
รศ.นพ. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น เรื่อง นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อค้นหาความผิดปกติในร่างกายหรือโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่ยินยอมที่จะเสียค่าใช้จ่ายซื้อแพคเกจตรวจสุขภาพกับทางโรงพยาบาล ซึ่งบางครั้งพบว่าเป็นการตรวจสุขภาพที่เกินความจำเป็น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการตรวจสุขภาพอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ว่าควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆอย่างไรบ้าง
สช.จึงได้ริเริ่มโครงการ “ตั้งหลัก ก่อนตรวจ” เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ในการตรวจสุขภาพอย่างถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนในครอบครัวให้มากที่สุด พร้อมสานต่อ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ ให้เกิดการขับเคลื่อน “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม
“โครงการตั้งหลัก ก่อนตรวจ จะเป็นเหมือนคู่มือที่ช่วยแนะนำทุกคนว่า ควรศึกษาข้อมูลพื้นฐานอะไรบ้าง ที่ช่วยให้การตรวจสุขภาพเกิดผลอย่างแม่นยำ ได้ประโยชน์ รู้เท่าทัน และสามารถเลือกตรวจตามความจำเป็นและเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด”
สำหรับการรณรงค์ สช.จะมุ่งเน้นการส่งเสริม “๕ ข้อควรรู้ ก่อนตรวจสุขภาพ” สำหรับประชาชน ประกอบด้วย
(๑) การตรวจสุขภาพจำเป็นหรือไม่: การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็น เพราะมีโรคหลายโรคที่ไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตได้ การตรวจสุขภาพเป็นการค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา และเมื่อเจอโรคในระยะแรกก็จะได้รักษาได้ง่าย หรือรักษาให้หายขาดได้ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพยังเป็นการค้นหาพฤติกรรมเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคของเรา ทำให้เรารู้ว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไรบ้าง หมอที่ตรวจจะได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของเราได้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นๆ
(๒) ตรวจสุขภาพอย่างไรจึงเรียกว่าตรวจเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม: เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วหมอจะตรวจร่างกาย และตรวจเน้นพิเศษในบางเรื่องที่มีปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งถ้าจำเป็นอาจมีการตรวจแล็บเพิ่มเติม แต่หากไม่ได้ตรวจตามปัจจัยเสี่ยงก็เป็นการตรวจที่ไม่เหมาะสม
(๓) ควรตรวจสุขภาพตามแพ็คเกจ หรือไม่: ไม่ควร เนื่องจากการตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจมากเข้าไว้ ไม่ใช่การตรวจแบบเหมาโหล แต่ต้องตรวจเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับตัวเราเท่านั้น หากตรวจเกินจำเป็นก็จะทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และการตรวจบางอย่างอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ด้วย
(๔) การตรวจแล็บจำเป็นสำหรับการตรวจสุขภาพหรือไม่: ไม่จำเป็น เพราะการตรวจสุขภาพที่ถูกต้องไม่ได้มุ่งเน้นที่การตรวจแล็บ แต่ให้ความสำคัญกับการซักประวัติเป็นหลัก เพราะการซักประวัติทำให้เราค้นพบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค และเมื่อรู้ปัจจัยเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนถัดไปหมอก็จะตรวจร่างกาย และตรวจแล็บเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องตรวจแล็บเลยก็ได้
การตรวจสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการตรวจแล็บ จึงไม่ใช่การตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าการตรวจสุขภาพคือ การตรวจหาโรคโดยการตรวจแล็บ และมุ่งเน้นการรักษาจากหมอ แต่ละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง
(๕) ประโยชน์และโทษของการตรวจสุขภาพ: การตรวจสุขภาพมีประโยชน์หากทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะโรคบางโรคหากตรวจพบในระยะแรกก็จะรักษาได้ผลดี หรือหายได้ แต่หากมุ่งตรวจแบบไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมสำหรับตัวเรา ก็จะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะถ้าตรวจเจอว่าเป็นโรคที่ยังไม่มีการพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ารักษาได้ หรือรักษาในระยะแรกไม่ได้ผลดี เราย่อมเกิดความวิตกกังวลใจ รวมทั้งเครื่องมือที่ตรวจก็ไม่ได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงอาจทำให้เจอผลบวกลวง (ไม่เป็นโรค แต่ผลการตรวจเบื้องต้นว่าเป็นโรค) ที่ทำให้เราเจ็บตัวเพราะต้องตรวจเพิ่มเพื่อยืนยันผล และทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้การตรวจเพิ่มเติมบางอย่างยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ด้วย แต่หากเจอผลลบลวง (เป็นโรคแฝงอยู่ แต่ตรวจไม่พบ) ก็จะทำให้เราชะล่าใจและไม่ปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งกลับจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอีก
ทั้งนี้นอกจากการจัดเสวนา ร่วมกับนิตสาร “ชีวจิต” ในครั้งนี้แล้ว สช.จะจัดให้มีการรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดนิทรรศการให้ความรู้ตามสถานที่ในชุมชนต่างๆ เพื่อเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียรวมถึงการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องนี้ในภาพรวมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนไม่ต่ำกว่า ๒๐ ล้านคนทั่วประเทศ