นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้ให้ความสำคัญในการรวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไทย จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ขึ้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทำสวนยางในมิติต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ในขณะเดียวกัน ทาง สกย. ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมข้อมูลแผนที่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผนที่ฐานอ้างอิง (Base Map) ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขอแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะที่สำคัญจากกรมพัฒนาที่ดิน เช่น แผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี แบบจำลองความสูงเชิงเลข แผนที่สภาพการใช้ที่ดิน แผนที่กลุ่มชุดดิน แผนที่เขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) รวมทั้ง ดัชนีสำหรับสืบค้นข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญต่อภารกิจในความรับผิดชอบของ สกย. ในฐานะองค์กรที่ดูแลและให้การส่งเสริมการปลูกยางพาราแก่เกษตรกร ซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วภูมิภาค โดยทาง สกย. ก็มีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลรายละเอียดประกอบแปลงของสวนยางพารา ที่อยู่ในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ของ สกย. ให้แก่ทางกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อใช้ในกิจการสำคัญของกรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาและบริหารจัดการที่ดินของประเทศชาติให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
นายจิตรกร วิจิตรถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สกย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจหลักของ สกย. คือ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมุ่งให้การสงเคราะห์การทำสวนยางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้พัฒนาระบบงานสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลพิกัด จากเครื่อง GPS ให้มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลระบบตรวจสวนและติดตามสวนสงเคราะห์ ระบบสถาบันเกษตรกร ทำให้สามารถทราบตำแหน่งสวนยาง อายุยาง และข้อมูลของสวนยางพารา ในส่วนที่ สกย.รับผิดชอบ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน และให้บริการแผนที่ และข้อมูลทางแผนที่ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กับกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการใช้แผนที่ และข้อมูลทางแผนที่ ระหว่าง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กับกรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้ความเห็นชอบจากทั้งสองหน่วยงานร่วมกัน
นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในการทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือและการบูรณาการด้านการใช้ประโยชน์แผนที่และข้อมูลทางแผนที่ของทั้งสองหน่วยงานร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์กับงานด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนงานตามภารกิจของทั้งสองหน่วยงาน ให้สำเร็จ ลุล่วง เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แผนที่และข้อมูลทางแผนที่ ที่มีความละเอียดถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับนำไปใช้วางแผนงาน โครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอีกทั้งยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนด้านการสำรวจและจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศ และเป็นการประหยัดงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของทั้งสองหน่วยงานและของประเทศได้เป็นอย่างมาก
นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดินมีภารกิจหลัก ด้านการจัดการทรัพยากรดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน การสำรวจดิน วิเคราะห์และวิจัยดิน สภาพการใช้ที่ดิน การกำหนดเขตการใช้ที่ดิน การวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ดิน การปรับปรุงบำรุงดินการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการจัดทำและให้การบริการข้อมูลสารสนเทศด้านการพัฒนาที่ดินที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนงานโครงการต่างๆ เพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรดินและที่ดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การป้องกันประเทศ และการวางแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับท้องถิ่น ได้แก่ แผนที่และข้อมูลทางแผนที่ของโครงการจัดทำแผนที่เพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและทรัพย์สินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นแผนที่ฐานที่สำคัญของประเทศ แผนที่ดินแผนที่สภาพการใช้ที่ดิน แผนที่เขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) จำนวน 13 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ลำไย เงาะทุเรียน มังคุด มะพร้าว และกาแฟ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับ สกย. โดยตรงคือ “ยางพารา” ที่ผ่านมา เกษตรกรให้ความสนใจและขยายพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำเขตเหมาะสมพืชเศรษฐกิจยางพาราในระดับภาค จังหวัด อำเภอและตำบล ในรูปแบบของข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนงานและกำหนดพื้นที่เป้าหมายสำหรับส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ การลดต้นทุนการผลิต ตามนโยบายของรัฐ “กรมพัฒนาที่ดิน มีความพร้อมและยินดีให้การสนับสนุนแผนที่และข้อมูลทางแผนที่ของกรมพัฒนาที่ดินตามกรอบของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ให้แก่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อนำไปใช้ในภารกิจของ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ ของทั้งสองหน่วยงานร่วมกันต่อไป”