มร.เจมส์ อาร์มสตรอง กรรมการผู้จัดการ สแกนเนีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงตลาดเครื่องยนต์อุตสาหกรรมอาเซียนขณะนี้ว่า มีแนวโน้มความต้องการและการเติบโตอยู่ในระดับสูง จากการเร่งพัฒนาศักยภาพของทั้งภาครัฐและเอกชนในแต่ละประเทศเพื่อมุ่งสู่การแข่งขันในตลาดระดับสากล โดยมีตัวผลักดันสำคัญคือ การร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ สแกนเนีย จะเดินหน้าในการทำตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องยนต์อุตสาหกรรมอาเซียนให้มากขึ้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าในทุกประเทศที่ได้สัมผัสกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องยนต์ สแกนเนีย ที่มีการออกแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 100 ปี
ปัจจุบัน สแกนเนีย มีวิศวกรประจำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถึง 3,000 คน และใช้วิศวกร 1 ใน 3 หรือ 1,000 คน ร่วมกันออกแบบพัฒนาเครื่องยนต์ภายใต้แนวคิด เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Scania Ecolution เพื่อให้ได้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง ทนทาน มีความสะดวกในการใช้งาน สะดวกในการติดตั้งและซ่อมบำรุง ทั้งยังประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จากความทุ่มเทดังกล่าวทำให้ปัจจุบัน สแกนเนีย มียอดจำหน่ายเครื่องยนต์ทั่วโลกสูงถึง 85,000 เครื่อง/ต่อปี (รวมเครื่องยนต์รถบรรทุกและรถบัส) สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์อุตสาหกรรมของ สแกนเนีย นั้น แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องยนต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial) กลุ่มเครื่องยนต์เรือ (Marine) และกลุ่มเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Power generation & Gensets) ซึ่งในตลาดอาเซียนนั้นกลุ่มเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นกลุ่มทีมีการเติบโตมากที่สุด
ด้าน นายภูริวัทน์ รักอินทร์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด กล่าวถึงการจับมือกับ ซี แอนด์ อาร์ เทคโนโลยี เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการบุกตลาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในประเทศไทยว่า นับเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เพราะ สแกนเนีย มีความผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับอยู่มากมาย โดยมองว่าตลาดเครื่องกำเนินไฟฟ้าของไทยเป็นตลาดทีกำลังเติบโตและมีความต้องการสูงมาก การจับมือกับ ซี แอนด์ อาร์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลและบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของไทย ซึ่งมีประสบการณ์และมีฐานลูกค้าอยู่แล้วจะช่วยการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้า สแกนเนีย ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้า สแกนเนีย ที่จะนำเข้ามาทำตลาดก่อนจะเป็นผลิตภัณฑ์ สแกนเนีย เจ็นเซ็ต (Scania Gensets) รุ่น Power output 50 Hz: 250-550 kVA PRP, 275-600 kVA ESP และ Power output 60 Hz: 275-600 kVA PRP, 300-600 kVA ESP ซึ่งให้กำลังไฟสูงเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งที่เป็นหน่วยงานราชการ โรงแรม คอนโดมิเนียม โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ผู้ให้บริการสำรองข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Data Center) ธนาคารพาณิชย์ บริษัทโทรคมนาคม อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมไปถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ล้วนเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีความพร้อมในการลงทุน ประกอบกับสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และ คาดว่ารัฐบาลจะเร่งเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกับการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน โดยจะส่งผลดีมาสู่การจับจ่ายของภาคประชาชนและการลงทุนของภาคเอกชนด้วย
ด้าน นายรักษพล โสมนะพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี แอนด์ อาร์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวถึงการได้รับความไว้วางให้เป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สแกนเนีย ในประเทศไทยว่า รู้สึกยินดีและมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง การร่วมมือในครั้งนี้ทำให้ ซี แอนด์ อาร์ เทคโนโลยี มีโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์กับกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มและหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่นที่ให้กำลังไฟสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้จักแบรนด์ สแกนเนีย อยู่แล้ว ทั้งยังให้ความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ทำให้ไม่ยากที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด โดยกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะเข้าไปทำตลาดก่อนจะเป็นกลุ่มของผู้ประกอบการเอกชนและกลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัทฯ จากนั้นจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจในลำดับต่อไป ส่วนในเรื่องของการบริการหลังการขาย ทั้งในด้านของการซ่อมบำรุง อะไหล่ และการอบรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น บริษัทฯ จะดำเนินการร่วมกับ สแกนเนีย สยาม ซึ่งมีศูนย์บริการอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาทางด้านบริการหลังการขายอย่างแน่นอน