อีกประเด็นคือ การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโลก ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการช่วยส่งเสริมการขายและสร้างภาพลักษณ์ของกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก ในการประชุมครั้งนี้เป็นเวลาอันดีที่ทุกหน่วยงานจะมาร่วมกันกำหนดแผนงานในการจัดแสดงภาพลักษณ์กล้วยไม้ไทยและส่งเสริมการตลาดของกล้วยไม้ไทยในประเทศต่างๆ โดยให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาพบกัน นอกเหนือจากการไปแสดงเรื่องคุณภาพแล้ว ยังเป็นการทำธุรกิจแบบ Business Matching ส่วนการวางแผนเรื่องนวัตกรรม ได้เล็งเห็นถึงปัญหาเพลี้ยไฟในสวนกล้วยไม้เป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลต่อคุณภาพกล้วยไม้ ได้มีการนำร่องทดสอบการปลูกกล้วยไม้ในโรงเรือน เพื่อควบคุมเพลี้ยไฟแล้ว ยังมีการศึกษาเรื่องคุณภาพกล้วยไม้หลังการบรรจุภัณฑ์ไปแล้ว ว่าสามารถแยกแยะได้ว่ากล้วยไม้ประเภทใดมีคุณภาพและกล้วยไม้ใดเป็นกล้วยไม้โดยทั่วไป เพื่อทำให้ตลาดมีโอกาสในการคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพได้มากขึ้น
นายวิมล กล่าวต่อไปว่า โอกาสในการนำเข้าไปขายในกลุ่ม AEC เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีโอกาสสูง โดยต้องส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ซึ่งได้กำหนดแผนงานไว้แล้วในปี 2558 โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ เพราะเป็นตลาดที่น่าสนใจ
ด้านราคาของกล้วยไม้นั้น ปกติประเทศไทยได้มีการส่งออกปีละประมาณ 2,500 ล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยมีการปลูกกล้วยไม้ในตระกูล Sonia ค่อนข้างมาก ประกอบกับในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน มีปริมาณผลผลิตกล้วยไม้ออกมามาก อาจทำราคาค่อนข้างตกลงไป แต่อย่างไรก็ตามในการคัดคุณภาพที่ส่งออกไปยังประเทศที่ต้องการคุณภาพกล้วยไม้และสามารถแยกแยะได้ ยังมีโอกาสที่จะทำตลาดต่อไปได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีศักยภาพ มีโอกาสในการแข่งขันสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่สิ่งที่จำเป็นในขณะนี้คือ ต้องแยกความต้องการของประเทศปลายทางให้ชัดเจน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ประเทศปลายทางได้กำหนดเอาไว้ เช่น ขนาด คุณภาพ วิธีการในการเก็บรักษา วิธีการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีความสำคัญในการหารือในครั้งนี้ด้วย
“ตลาดหลักๆในการส่งออกกล้วยไม้ของไทยคือ ประเทศจีน มีการส่งออกปีละ 60-70% ซึ่งไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานGAP และมาตรฐานโรงเรือน(GMP) ในบางพื้นที่ของจีนยังมีการควบคุมเรื่องแมลง จึงจำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตหรือใบรับรองการปลอดแมลงจากด่านที่ส่งออกด้วย ช่องทางการส่งออกมีทั้งทางเครื่องบิน และรถยนต์ผ่านทางเชียงของ ไปประเทศลาว เข้าสู่ทางตอนใต้ของจีน ไปถึงตลาดคุนหมิง โอกาสที่จะพัฒนาในตลาดจีนให้มากขึ้นต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนากล้วยไม้ให้มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพให้เหมือนกัน ส่วนกล้วยไม้ที่มีคุณภาพต่ำจำเป็นต้องแยกแยะออกจากตลาดหลักโดยทั่วไปเพื่อทำให้กลไกของราคาเป็นไปตามคุณภาพของราคาสินค้า” นายวิมล กล่าว