ตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “คอนโดมิเนียมประมาณ 3,8000 ยูนิตเปิดขายใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีพ.ศ.2557 ลดลงจากช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2556ประมาณ 60% คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในทุกทำเลลดลงอย่างเห็นได้ชัดในทุกทำเลยกเว้นจอมเทียนที่มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 48% เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ที่มีจำนวนยูนิตมากกว่า 1,100 ยูนิตเปิดขาย สถาณการณ์ทางการเมืองในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีพ.ศ.2556 และห้าเดือนแรกของปีพ.ศ.2557 มีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย”
นายสุรเชษฐ ยังได้กล่าวถึงคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างว่า “คอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในพัทยาที่มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2557 มีอยู่มากกว่า 28,200 ยูนิต โดยที่มีคอนโดมิเนียมประมาณ 18,850 ยูนิตมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2557 อยู่ในจอมเทียน ในขณะที่ทำเลอื่นๆ นั้นมีจำนนวน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับจอมเทียน เพราะว่าในจอมเทียนมีโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนยูนิตมากกว่า 1,000 ยูนิตเปิดขายในจอมเทียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”
ตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาชะตัวลงในแง่ของอัตราการขายที่เปลี่ยนแปลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา “อัตราการขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียม ณ สิ้นครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 73% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากว่า ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมือง ในขณะที่ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มใหญ่ในตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาก็ลดน้อยลงตั้งแต่มีประกาศเตือนของประเทศต่างๆ ให้ระวังหรืองดเว้นการเดินทางมาประเทศไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องต้นปี และการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังไม่ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกก็มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเช่นกัน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยา โดยผู้ซื้อชาวต่างชาติต้องการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อเป็นบ้านพักระหว่างที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับผู้ซื้อชาวไทยนั้นซื้อเพื่อต้องการลงทุน และเก็บไว้เป็นบ้านหลังที่สอง ซึ่งบางส่วนซื้อไว้เพื่อการอยู่อาศัยจริงๆ” สุรเชษฐ กล่าว
นอกจากนี้การที่มีโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมากเปิดขายในช่วง 1 – 3 ปีที่ผ่านมานั้น และคอนโดมิเนียมบางส่วนยังคงเหลือขายอยู่ในตลาด ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาชะลอตัวลง เพราะผู้ซื้อมีตัวเลือกมากขึ้น และใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อนานขึ้น
“ผู้ประกอบการชาวไทยทั้งในท้องถิ่น รายใหญ่จากกรุงเทพมหานคร และผู้ประกอบการชาวต่างชาติ พยายามที่จะกระตุ้นกำลังซื้อโดยการออกมาตรการทางการตลาดต่างๆ เช่น การมีการันตีผลตอบแทนในช่วง 1 – 3ปี การแยกพื้นที่ส่วนหนึ่งในโครงการมาทำเป็นโรงแรมและให้เชนโรงแรมมาบริหารพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้งทำหน้าที่ในการปล่อยเช่าคอนโดมิเนียม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อที่ต้องการลงทุน” สุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติม
ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 62,000 บาทต่อตารางเมตรใกล้เคียงกับคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในชข่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2556 โดยที่ราคาขายเฉลี่ยในพื้นที่จอมเทียนต่ำที่สุดคือประมาณ 48,500 บาทต่อตารางเมตร เพราะว่ามีคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่หลายโครงการที่มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อยูนิต โดยราคาเริ่มต้นอาจจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งโครงการลักษณะนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมจากผู้ซื้อทั้งชาวไทย และต่างชาติพอสมควร แม้ว่าจะได้ติดทะเล แต่ว่ามีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่มาเป็นจุดขายทดแทน
“ตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยามีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี เพราะเป็นฤดูการท่องเที่ยว ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก็มีความสงบเรียบร้อย และการที่มีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศก็น่าจะเรียกความมั่นใจของชาวต่างชาติกลับมาได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในพัทยามีจำนวนมากขึ้น และจะส่งดีต่อตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาต่อไป” สุรเชษฐ สรุป