ปัจจุบันพม่ากำลังก้าวโตไปในเศรษฐกิจโลก ด้วยความโดดเด่นของต้นทุนทางทรัพยากร โดยการส่งออกข้าว กระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ และน้ำมัน รวมทั้งการผลิตเสื้อผ้า รัฐบาลพม่ายังได้มีความพยายามในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เร่งการพัฒนาภาคการเกษตร การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว การวางระบบการบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่มาใช้ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและพลังน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างด้านสังคมและวัฒนธรรม พม่าให้ความสำคัญต่อการ การรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมประจำชาติ ศาสนาและเน้นความรักชาติ
ประเทศไทยได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่าเมื่อ พ.ศ. 2491 มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ไทยและพม่ามีกลไกความร่วมมือในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-พม่า (Joint Trade Commission – JTC) ซึ่งไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ของพม่า สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สินค้าอุปโภค บริโภค น้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากพม่า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ไม้แปรรูป ถ่านหิน เหล็กและโลหะอื่น ๆ การลงทุนของไทยในพม่าที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนในสาขาพลังงาน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรม การแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม ประมง การท่องเที่ยว และโรงแรม จากการที่ไทยและพม่ามีพรมแดนติดต่อกัน ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่ายังให้การสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ไทยยังให้การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคมและสาธารณสุขกับสหภาพพม่า ใน โครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับครูประถมศึกษาจากพม่าในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเกษตรและโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน มีการส่งคณะเจ้าหน้าที่ไทยไปร่วมทำงาน ติดตามผล และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในสหภาพพม่า โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545