กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดสีน้ำตาลในพื้นที่อีสาน ระดมเจ้าหน้าที่ลุยตรวจแปลง กำชับเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ คาดป้องกันให้อยู่ในวงจำกัดได้
นายไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่าจากการรายงานสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร และสุรินทร์ ได้สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวในระยะแตกกอโดยเฉพาะในพื้นที่ 13 อำเภอ ของจังหวัดศรีสะเกษ พบการระบาด ครอบคลุมพื้นที่ถึง 46,548 ไร่ เกษตรกร 6,202 ราย ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามและเฝ้าระวังการระบาดมาโดยตลอด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้าพื้นที่ดูแลอย่างเข้มงวด พร้อมให้คำแนะนำเกษตรกร โดยเฉพาะบางพื้นที่ได้ประสานกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนงบประมาณจัดหาเครื่องมือและสารเคมี เพื่อช่วยเหลือในการป้องกันกำจัด และยับยั้งการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ตามช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยลดความรุนแรงของการระบาดลงได้พอสมควร จึงทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น
นายไพรัช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางมาตรการควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไว้ 5 ระยะ ด้วยกัน ได้แก่
1) การควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่ ได้แนะนำเกษตรกรให้ปรับปรุงบำรุงดินโดยไถกลบตอซัง แทนการเผาฟาง และทำนาไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี และปลูกข้าวพันธุ์ต้านทางเช่น กข 29 กข31 กข 41 สุพรรณบุรี 1 พิษณุโลก 2 เป็นต้น โดยต้องเป็นเมล็ดพันธุ์จาก แหล่งเมล็ดพันธุ์ที่ ทางราชการรับรอง หรือบริษัทเอกชนที่เชื่อถือได้ อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 15-20 กิโลกรัมต่อไป ทำการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุกๆ 2-3 ฤดูปลูก ใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำที่สอดคล้องกับระยะการเจริญเติบโตของพืชและมีความเหมาะสมกับสภาพของดินในแต่ละพื้นที่
2) การเฝ้าระวังและเตือนภัย กรมส่งเสริมฯ จะทำการตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลสภาพแวดล้อมจากสถานีตรวจวัดสภาพแวดล้อมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ในพื้นที่ เมื่อสภาพแวดล้อมมีอุณหภูมิระหว่าง 25 – 28 องศาเซลเซียส ความชื้น 50 – 60 เปอร์เซ็น อากาศเย็นในตอนเช้า ร้อนในตอนกลางวัน จะเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยเข้าสำรวจแปลงและติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าวอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ หากเริ่มพบปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยเฉลี่ย 1-10 ต่อจุด จะรีบแจ้งเตือนภัยการระบาดในพื้นที่ แจ้งไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมและรายงานพื้นที่ระบาด
3) ระหว่างการระบาด เมื่อสำรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยเฉลี่ย 1-10 ตัวต่อจุด ให้ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย หรือสารสะเดา อัตรา 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นควบคุมบริเวณที่สำรวจ หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยเฉลี่ยมากกว่า 10 ตัวต่อจุด และไม่พบแมลงศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ ให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมการข้าวฉีดพ่นเฉพาะบริเวณที่มีการระบาด เพื่อตัดวงจรเพลี้ยฯ
4) การควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายพื้นที่ เกษตรกรควรบริหารจัดการน้ำ โดยมีการระบายน้ำเข้า-ออกแปลงนาสลับกัน เพื่อปรับสภาพไม่ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมถึงใช้กับดักแสงไฟและเครื่องดูดแมลง เพื่อกำจัดตัวเต็มวัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หากการระบาดใช้สารชีวภัณฑ์ หรือหากระบาดรุนแรงจึงใช้สารเคมีกำจัด ตามคำแนะนำทางราชการ
5) หลังการระบาด ให้ทำการสำรวจพื้นที่ที่เสียหายอย่างสิ้นเชิง แล้วรายงานภัยพิบัติด้านการเกษตร ตามพื้นที่จริง เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรทั้งในพื้นที่การระบาดและพื้นที่ใกล้เคียงช่วยเฝ้าระวังหากพบการระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านโดยด่วน เพื่อป้องกันได้ทันท่วงที รองอธิบดีฯ กล่าวในที่สุด