กนอ. เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง สถานการณ์อุทกภัย ในทุกพื้นที่นิคมฯ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและต่างชาติ และสั่งการให้ทุกนิคมฯ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีฝนตกทั่วทุกภาคของประเทศไทยและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทางภาคกลาง กนอ. ได้กำหนดมาตรการป้องกันอุทกภัยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุทกภัย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กนอ. ได้สั่งการให้นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนป้องกันอุทกภัยในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยของนิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค), นิคมฯ บางปะอิน ได้ดำเนินการสร้างเสร็จสมบูรณ์ และนิคมฯ สหรัตนนคร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างคันดินดำเนินการไปแล้วที่ความสูงประมาณ 5 เมตร ทั้งนี้จะใช้แนวถนนรอบพื้นที่นิคมฯ ความยาวประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นแนวป้องกัน นอกจากนี้ นิคมฯ ทุกแห่งได้จัดทำและทบทวน “แผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน : กรณีอุทกภัย” โดยสรุปแนวทางการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อม เช่น ขุดลอกและพร่องน้ำในลำระบายน้ำ จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง และอุปกรณ์อื่นๆ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดเฝ้าระวังระดับน้ำโดยรอบพื้นที่ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนป้องกันอุทกภัย ติดตามสถานการณ์และประสานงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งชี้แจงและสื่อสารกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ กนอ. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. ณ อาคารสำนักงานใหญ่ กนอ. เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และเป็นศูนย์กลางบัญชาการ โดยมีการติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลเส้นทางพายุ และสภาพอากาศจากกรมอุตุวิทยา ข้อมูลสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ข้อมูลสถานการณ์น้ำทะเลหนุนจากกรมอุทกศาสตร์ ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมโดยแผนที่ดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ข้อมูลสถานการณ์ทั่วไปจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (thaiwater.net) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กนอ. ได้มอบหมายให้สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังจุดวัดระดับน้ำโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมฯ ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในกลุ่มลุ่มน้ำยม เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน ปราจีนบุรี และบางปะกง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งอยู่ในสถานการณ์ปกติ ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง นายวีรพงศ์ กล่าวสรุป