เมื่อวันที่16 กันยายน 2557 ตัวแทนจากทั้งสามองค์กร ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานมูลนิธิ สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล รองประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และ นายปรานต์ สยามวาลา นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ให้ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) และพันเอก ดร. เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ ประธานกิจการโทรคมนาคม เพื่อหารือเสนอให้มีการผลักดันกฎหมาย ทำงานที่บ้าน ให้เป็นรูปธรรม
สื่อเนื่องจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพ.ศ. 2538 เผยแพร่ในสื่อโทรทัศน์ทรงแนะนำการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืนด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นทางคือ “ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ประชาชนต้องเดินทางไปทำงาน” เป็นพระราชดำรัสที่สั้นแต่เปี่ยมด้วยพระปรีชาในความคิดที่ล้ำสมัย จนถึงปัจจุบันถึงได้เป็นที่ประจักษ์ในความหมายที่พระองค์ฯทรงดำรัสไว้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยทั้งสามองค์กรได้ตระหนักถึงพระราชดำรัสฯ จึงได้รวมตัวกันผลักดันกฎหมาย ทำงานที่บ้าน ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง อาทิ ลดปัญหาการจราจรที่คับคั่ง อุบัติเหตุทางจารจร และปัญหามลพิษต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางของพนักงาน ช่วยให้คุณภาพชิวิตและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดี
นอกจากนี้ ช่วยลดปัญหาด้านบุคลากรขององค์กร จากการขาดงานและการลาออกของพนักงาน มีโอกาสเข้าถึงพนักงานที่มีความสามารถมากขึ้น และเตรียมพร้อมพร้อมสำหรับการดำเนินงานธุรกิจต่อเนื่องแม้เมื่อเกิดภัยพิบัติ
ตัวแทนจากทั้งสามองค์กร ได้หารือกับ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช และพันเอก ดร. เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค เกี่ยวกับการจัดการให้ประเทศไทยมีอินเตอร์เนตความเร็วสูงเทียบเท่าเกาหลีใต้ครอบคลุมทุกภาคในราคาไม่แพง เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้เทคโนโลยี่สารสนเทศมาช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ทั้งสามองค์กรได้นำเสนอแนวทางในการดำเนินงานผลักดัน กฎหมาย ทำงานที่บ้าน โดย
1. จัดทำผลการศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าของข้อปฏิบัติ ทั้งข้อมูลที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยและผลการศึกษาวิจัยของต่างประเทศ เพื่อนำเสนอร่างกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
2. ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงประโยชน์ของโครงการ
3. ติดตามผลลัพธ์ทั้งด้านสังคม นายจ้าง และลูกจ้าง
โดยหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีดังนี้
1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติในการออกกฏหมาย ทำงานที่บ้าน บังคับใช้เพื่อประโยชน์ของชาติและทุกภาคส่วน
2. กระทรวงแรงงาน ให้การสนับสนุนผลักดันกฏหมายบังคับองค์กรรัฐและเอกชนปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
3. กสทช และ กทค ให้การสนับสนุนทางโครงข่ายระบบสื่อสาร และ Software
ซึ่งทั้งสามองค์กรจะได้เข้าไปประสานงาน พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในการผลักดัน กฎหมาย ทำงานที่บ้านให้เกิดเป็นจริงเพื่อประโยชน์สุขของประเทศและประชาชน