ส.อ.ท. จับมือ องค์กรชั้นนำร่วมจัดโครงการ “ขยายผลส่งเสริมการจัดทำ คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรในภาคอุตสาหกรรม” พร้อมเปิดตัว 38 องค์กร นำร่อง มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม

พฤหัส ๒๕ กันยายน ๒๐๑๔ ๑๖:๓๑
สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ “การขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม” ในวันพุธที่ 24 กันยายน 2557 ณ ห้องประชุม จตุรทิศ ชั้น 3 โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 เพื่อขยายผลให้มีการจัดทำคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม และวิเคราะห์แหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร (Hot Spot) และหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งจัดให้มีการทวนสอบและรับรองผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบทวนสอบ โดยมีโรงงานเข้าร่วมโครงการ การขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนพุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ทั้งหมด 38 แห่ง

นายเชวง จาว รองประธานอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรที่สนับสนุนและเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างบูรณาการ ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน (AEC Regional Industrial Hub) สนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีขีดความสามารถการแข่งขันได้ในระดับสากล มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินงานภายใต้กรอบขององค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance)

จากนโยบายที่เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ดำเนินโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ดำเนินโครงการร่วมกับผู้ประกอบการ ทั้งด้านการพัฒนาฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ การจัดทำคู่มือข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCI-LCA) การส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และองค์กรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องและพยายามขยายผลให้ครอบคลุมไปทุกๆกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

นายเชวง กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานโครงการในปี 2557 นี้ มีองค์กรนำร่องเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 38 แห่ง โดยเป็นการขยายผลการดำเนินงานให้คลอบคลุมประเภทอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากมีการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และสามารถนำไปบริหารจัดการเพื่อหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme) ในกรณีที่ประเทศไทยต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปในอนาคต

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ที่เป็นพันธมิตรที่ดีในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรมาโดยตลอด โดยทำการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคคลากรและด้านวิชาการในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงองค์กรนำร่องทั้ง 38 แห่ง ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการผลิตและการบริการในองค์กร โดยได้เข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่องในการดำเนินโครงการนี้จนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

“สำหรับการสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดตัว 38 องค์กรนำร่อง ที่ได้รับคัดเลือกจากบริษัทที่สนใจสมัครเข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จะเป็นสื่อกลางที่ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์ และความสำคัญของการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากองค์กรนั้นๆ รวมทั้งทำให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจหลักการในการประเมินค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และทราบถึงแนวทางในการเตรียมตัวเพื่อขอรับการรับรองผล ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้แล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ และมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุน และเป็นต้นแบบสำหรับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเชวง กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ