นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2557 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางจิราวรรณ แย้มประยูร) หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุม
การประชุมระดับรัฐมนตรีดังกล่าว ได้เน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคและส่งเสริมความ มั่นคงอาหารของประเทศสมาชิกเอเปคซึ่งมีทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ Theme: Strengthen Regional Cooperation, Promote Food Security และที่ประชุมได้ร่วมรับรองปฏิญญาปักกิ่งว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค โดยมีประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การส่งเสริมผลิตภาพทางการเกษตรและการผลิตอาหารด้วยพื้นฐานทางนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงการจัดการภายหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดการสูญเสียอาหาร และ การสร้างความเข้มแข็งความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหาร
สำหรับ ความมั่นคงอาหารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งไทยได้เสนอท่าทีในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดการสูญเสียอาหาร นอกจากนี้ ยังได้ชูประเด็นการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ความสำเร็จของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2556 เกี่ยวกับการดำเนินการลดจำนวนประชากรผู้ขาดสารอาหารได้ตามเป้าหมายการพัฒนา แห่งสหัสวรรษ พ.ศ. 2558 และการดำเนินงานร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเพื่อลดการสูญ เสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งในประเทศไทยโดยประเด็นที่สมาชิกเอเปคส่วนใหญ่ให้ ความสำคัญคือ การลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อาหาร
ทั้งนี้ ในส่วนของการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คือการประชุมคณะทำงานด้านความร่วมมือวิชาการการเกษตร ได้ร่วมกันหารือแผนการดำเนินงานของคณะทำงาน การคัดเลือกประธานคณะทำงาน โดยผู้แทนจากจีนได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย และการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ และ การประชุม The Policy Partnership on Food Security Management Council (PPFS MC) ครั้งที่ 2/2557 นั้น ได้เน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน การนำแผนงานความมั่นคงอาหารสู่ปี ค.ศ. 2020 (APEC Food Security Roadmap Towards 2020) ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการหารือ การดำเนินการของ PPFS สำหรับปีถัดไป โดยฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2558 เลขาธิการ กล่าว