นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มเติมภายใต้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อจัดทำ Stocktaking ในส่วนของสินค้าเกษตรในเบื้องต้น เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับการจัดส่งรายการสินค้าที่สามารถเปิดตลาดได้เบื้องต้นให้กรมเจรจา การค้าระหว่างประเทศนำรวมกับสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถเปิดเสรีเพิ่มเติมได้ อันเป็นการเตรียมการเปิดเสรีการค้าสินค้าของไทยเพิ่มเติม ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐ เกาหลี ครั้งที่ 10
ในเรื่องดังกล่าว อาเซียนและเกาหลีได้ลงนามการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับสาธารณรัฐ เกาหลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยการเจรจาครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สำหรับความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้านั้น อาเซียน 9 ประเทศ และเกาหลีได้ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2549และมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 สำหรับไทยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เนื่องจากในขณะนั้นไทยและเกาหลียังไม่สามารถตกลงกันได้ในสินค้าบางรายการ
หลัง จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–เกาหลี มีผลใช้บังคับแล้ว ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีขึ้น และได้มีการประชุมมาแล้วถึง 10 ครั้ง โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า คือ ประเด็นเรื่องหลักการต่างตอบแทน ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดไว้ว่า หากประเทศใดต้องการจะส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศคู่ภาคี หากสินค้านั้นเป็นสินค้าที่มีภาษีเป็นศูนย์แล้วในประเทศคู่ภาคี ประเทศนั้นจะต้องปรับอัตราภาษีของตนให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 เพื่อสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีในกรอบเจรจานี้ได้ (โดยมีเงื่อนไขด้วยว่า อัตรานั้นจะต้องเป็นอัตราที่ต่ำกว่า MFN ของประเทศคู่ภาคีด้วย) ซึ่งเกาหลีพยายามที่จะให้อาเซียนยกเลิกหลักการต่างตอบแทน อย่างไรก็ตาม ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ยังคงยืนยันในการใช้หลักการต่างตอบแทน
นอก จากนี้ ยังมีประเด็นการการทบทวนการเปิดตลาดเพิ่มเติมในรายการสินค้าอ่อนไหว โดยอาเซียนได้กำหนดการเปิดตลาดเพิ่มเติมที่ร้อยละ 2 ของรายการสินค้าทั้งหมดจากระดับการเปิดเสรีปัจจุบัน ซึ่งระดับการเปิดเสรีปัจจุบันในอาเซียนไม่เท่ากัน เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรจากปี 2007 เป็น 2012 ทำให้การเปิดตลาดที่เคยตกลงกันไว้เดิมทั้งอาเซียนและเกาหลีที่ร้อยละ 90 มีการเปลี่ยนแปลง โดยไทยมีการเปิดตลาดที่ร้อยละ 88 ดังนั้น การเปิดตลาดเพิ่มเติมอีกร้อยละ 2 จึงหมายถึงไทยเปิดตลาดที่ร้อยละ 90
สำหรับ มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ในปีช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไทยและเกาหลีมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 29,536 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2.18 ต่อปี และที่ผ่านมาไทย
เป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลีมาโดยตลอดเฉลี่ย 13,638 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 พบว่าไทยมีมูลค่าส่งออก 11,749 ล้านบาท (ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12,780ล้านบาท) และไทยมีมูลค่านำเข้า 2,658 ล้านบาท (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,156 ล้านบาท) ซึ่งไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลี 9,091 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญคือ น้ำตาล ข้าว กากจากมันสำปะหลัง ไก่ปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง ไขมันและน้ำมันจากพืช สตาร์ชจากมันสำปะหลัง ในขณะที่สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญคือ ปลาทูน่าท้องลาย ปลาทูน่าครีบเหลือง และสาหร่าย เป็นต้น