นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการจัดเก็บข้อมูลการผลิตและต้นทุนการผลิตกาแฟของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจร ในจังหวัดชุมพรและระนอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ และลดต้นทุนการผลิต ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการปี 2553 โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการตัดต้นทำสาวกาแฟ การปรับปรุงสภาพดิน การดูแลและกำจัดโรคแมลง และส่งเสริมให้ตัดฟื้นต้นทำสาวในแปลงตัวอย่างของตนเองจำนวน 1 ไร่ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้ากาแฟจากการแปรรูปกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟ
ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากเกณฑ์โครงการที่กำหนดเพิ่มผลผลิตกาแฟแปลงเดี่ยวจาก 200 เป็น 250 กิโลกรัมต่อไร่ และแปลงที่ปลูกร่วมกับพืชอื่นจาก 143 เป็น 180 กิโลกรัมต่อไร่ พบว่า เกษตรกรที่ทำแปลงเดี่ยวที่ร่วมโครงการในปี 2553 มีผลผลิต 261 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 4.40
ด้านต้นทุนการผลิตกำหนดให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟต้องมีต้นทุนการผลิตไม่มากกว่าร้อยละ 10 ของต้นทุนการผลิตของประเทศเวียดนาม (38.40 บาทต่อกิโลกรัม) พบว่าเกษตรกรที่ทำแปลงเดี่ยวที่เข้าร่วมโครงการในปี 2553 มีต้นทุนการผลิต 28.74 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศเวียดนาม 9.66 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มผลผลิตกาแฟในปี 2558 จากสภาวะฝนทิ้งช่วง/ภัยแล้งในช่วงมกราคม 2557 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบให้ต้นกาแฟที่อยู่ในช่วงออกดอก ไม่ติดผลกาแฟ คาดว่าผลผลิตกาแฟลดลงกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น เกษตรกรควรหันมาฟื้นฟูสวนกาแฟด้วยการตัดต้นทำสาวกาแฟ โดยเฉพาะสวนกาแฟที่มีต้นกาแฟอายุตั้งแต่ 8 -10 ปีขึ้นไปมีผลผลิตลดลง ซึ่งจะสามารถฟื้นคืนความสมบูรณ์ ให้ผลผลิตสูงดังเดิมภายในระยะเวลา 2 ปี โดยไม่ต้องเสียเวลาปลูกใหม่ที่ต้องใช้เวลา 3-4 ปี
ทั้งนี้ การตัดต้นทำสาว ทำให้ต้นกาแฟมีทรงพุ่มและความสูงที่เหมาะสม สามารถส่งปุ๋ยไปใช้ในการเจริญ พัฒนาทางลำต้น การออกดอก ติดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและลดเวลาในการเก็บเกี่ยวและบำรุงรักษา สามารถช่วยลดปัญหาการระบาดและสะสมของโรค/แมลงศัตรูพืช นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถคัดเลือกกาแฟที่มีลักษณะพันธุ์ดีมาทำการเสียบยอด เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต แต่การตัดฟื้นต้นควรทำเมื่อย่างเข้าหน้าฝน เนื่องจากมีน้ำเพียงพอในการเจริญเติบโตของกิ่งแตกยอดใหม่